โรงงานระดับโลกกับการเดินทางสู่ความยั่งยืน: เปิดกระบวนการผลิตของฟอร์ดในไทยที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
การยกระดับเทคโนโลยีให้มีความทันสมัย กระบวนการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพอย่างชาญฉลาด และการนำพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาใช้ ช่วยให้ฟอร์ดลดปริมาณคาร์บอนที่ปล่อยออกมาสู่สิ่งแวดล้อม ผลักดันให้ฟอร์ดยืนหยัดในฐานะแบรนด์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอร์ริ่ง (เอฟทีเอ็ม) และ โรงงานออโต้ อัลลายแอนซ์ ประเทศไทย (เอเอที) ได้รวมพลังในการผลิตรถฟอร์ดด้วยกระบวนการและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนสามารถฉลองวันสิ่งแวดล้อมโลก ด้วยความสำเร็จในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในหลายๆเรื่องตลอดหลายปีที่ผ่านมา
จากวิสัยทัศน์ในการดำเนินการธุรกิจในประเทศไทยด้วยความเอาใจใส่ เพื่อประโยชน์สุขของคนรุ่นหลังและโลกที่พวกเขาจะได้รับเป็นมรดกสืบทอดต่อไป ฟอร์ดได้ลงทุนอย่างมหาศาลในการดำเนินงานในประเทศไทยเพื่อให้มั่นใจว่าระบบการผลิตระดับโลกของบริษัทจะแสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมในระดับโลก
ปัจจุบัน ประชากร 3,200 พันล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของประชากรโลกกำลังประสบปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศอย่างต่อเนื่อง เช่น การขาดแคลนน้ำดื่มที่สะอาดและปลอดภัย ซึ่งปริมาณน้ำทั้งหมดบนโลกใบนี้ มีเพียงร้อยละ 1 เท่านั้นที่มนุษย์สามารถบริโภคได้ โดยต้องปันส่วนกันกับคนอื่นๆ อีกเกือบ 8,000 ล้านคน
เมื่อคำนึงถึงเรื่องนี้ ตลอดสองทศวรรษที่ผ่านมา ฟอร์ดจึงมุ่งมั่นที่จะลดการใช้น้ำต่อการผลิตรถยนต์หนึ่งคันลงได้อย่างน่าทึ่งถึงร้อยละ 72 แม้ว่าเป้าหมายดังกล่าวจะเป็นที่น่าพอใจ แต่ฟอร์ดก็ยังพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ดียิ่งขึ้นด้วยการตั้งเป้าหมายระยะยาว ในการลดการใช้น้ำประปาในกระบวนการผลิตให้เหลือศูนย์
การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมของฟอร์ดในประเทศไทย ยังมีเป้าหมายที่มากไปกว่าการใช้น้ำ โดยในการจำกัดปริมาณสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOC) และการปล่อยสารเคมีจากห้องพ่นสีนั้น ฟอร์ดสามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างน่าชื่นชม เพียง 25.1 กรัมต่อตารางเมตรในไตรมาสแรกของปี 2564 นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา โรงงานเอฟทีเอ็มได้ยกเลิกการกำจัดขยะด้วยวิธีฝังกลบ โดยจะทำการคัดแยกขยะทุกประเภทภายในโรงงาน ไม่ว่าจะเป็นขยะที่เกิดจากโลหะ บรรจุภัณฑ์ วัสดุที่เหลือทิ้งจากกระบวนการผลิต แท่นรองรับบรรจุภัณฑ์ชนิดทำจากไม้ ขยะทั่วไปและขยะอันตราย เพื่อส่งไปรีไซเคิล และส่งต่อไปยังกลุ่มธุรกิจอื่นเพื่อผลิตเป็นเชื้อเพลิง
นอกจากความสำเร็จของโรงงาน เอฟทีเอ็ม ในการใช้น้ำต่อการผลิตรถยนต์หนึ่งคันที่ลดลงถึงร้อยละ 44 แล้ว ยังมีความสำเร็จอื่นๆ อีกในกระบวนการผลิตตลอดห้าปีที่ผ่านมา ทั้งการลดขยะอันตรายลงกว่าร้อยละ 40 ลดปริมาณขยะทั่วไปต่อการผลิตรถหนึ่งคันลงร้อยละ 14 ลดปริมาณสารระเหยที่ปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ ลงร้อยละ 28 และการใช้พลังงานต่อการผลิตรถหนึ่งคันในอัตราที่ดีขึ้นถึงร้อยละ 21
โรงงานเอเอที ที่ตั้งอยู่ห่างออกไปประมาณ 20 กิโลเมตร มีการลงทุนขนาดใหญ่ในด้านพลังงานแสงอาทิตย์ (ระบบแผงโซลาร์เซลล์ 11,000 แผง ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 5 เมกะวัตต์) ด้วยการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาโรงงาน ซึ่งจะสามารถผลิตไฟฟ้าได้มากกว่า 1 ใน 4 (ร้อยละ 28) ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมดในแต่ละวัน ซึ่งช่วยเสริมการผลิตที่ AAT ให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
มร. อังเดร คาวาลาโร ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ กลุ่มตลาดนานาชาติ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี กล่าวว่า “ฟอร์ดมุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าสำหรับคนรุ่นหลัง และปฏิบัติตามแนวทางที่เคร่งครัดของฟอร์ดซึ่งมักจะเข้มงวดกว่าข้อกำหนดของหน่วยงานในท้องถิ่น การดำเนินงานของเรายังคงมุ่งเน้นไปที่การลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และคาดว่าจะขยายขอบเขตการใช้แหล่งพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ ในการรีไซเคิลน้ำจากกระบวนการผลิตในแต่ละวันของเราอย่างต่อเนื่อง”