โตโยต้า เปิดศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 3
บริษัท รตาวัน จำกัด จังหวัดเชียงราย
นายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยนายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นางสาวอังคณา จิตรสกุล กรรมการ บริษัท โตโยต้าเชียงราย จำกัด ผู้แทนชมรมผู้แทนจำหน่ายโตโยต้า หน่วยงานราชการในจังหวัดเชียงราย และนายตะวัน ตันวัชรพันธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รตาวัน จำกัด ร่วมเปิด “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 3” ณ บริษัท รตาวัน จำกัด จังหวัดเชียงราย เมื่อวันอังคารที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ผ่านมา
“ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” เป็นกิจกรรมในโครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ที่โตโยต้าได้นำปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ได้แก่ วิถีโตโยต้า ระบบการผลิตแบบโตโยต้า และปรัชญาลูกค้าเป็นที่หนึ่ง มาถ่ายทอดให้แก่วิสาหกิจชุมชนอันเป็นภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย ให้สามารถดำเนินธุรกิจด้วยตนเองได้อย่างยั่งยืน สอดคล้องกับทิศทางการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่เป็นการร่วมมือกันระหว่าง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้มีความมั่นคง โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา โครงการ “โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปรับปรุงธุรกิจธุรกิจชุมชนต่างๆ และมีส่วนช่วยให้การดำเนินงานของธุรกิจเหล่านี้มีการพัฒนาและได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในด้านต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม อาทิ เช่น ประสิทธิผลเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 50% การควบคุมคุณภาพการผลิตดีขึ้นโดยเฉลี่ย 70% และต้นทุนในการควบคุมสินค้าคงคลังลดลงโดยเฉลี่ย 40% เป็นต้น
บริษัท รตาวัน จำกัด เป็นบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์ที่ทำจากไม้สัก จัดจำหน่ายภายใต้ชื่อแบรนด์ “องค์อร เฟอร์นิเจอร์” มีโรงงานผลิตที่จังหวัดเชียงราย ได้เข้าร่วมโครงการ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ ในปี 2560 โดย โตโยต้าร่วมมือกับ บริษัท โตโยต้าเชียงราย จำกัด ส่งเจ้าหน้าที่ของโตโยต้าที่มีประสบการณ์ด้านระบบการผลิตแบบโตโยต้าและหลักการไคเซ็น (การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง) เข้าไปช่วยเหลือธุรกิจชุมชนในลักษณะของการเป็น “พี่เลี้ยงทางธุรกิจ” โดยให้เจ้าหน้าที่ร่วมศึกษาถึงสาเหตุของปัญหา พร้อมนำองค์ความรู้ของโตโยต้าเข้าไปถ่ายทอดและปรับปรุงระบบการจัดการปัญหาของธุรกิจ โดยนำมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับบริบทและความพร้อมของธุรกิจนั้นๆ ส่งผลให้ธุรกิจสามารถดำเนินงานได้อย่างมืออาชีพ สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรม สร้างการจ้างงานในท้องถิ่น และสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน โดยบริษัทฯ ได้ส่งมอบโครงการแก่บริษัท รตาวันฯ ภายหลังการปรับปรุงเสร็จสิ้นเมื่อเดือนตุลาคม 2561 และได้ติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง พบว่าบริษัท รตาวันฯ ยังคงรักษาประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และทำการปรับปรุงด้วยตนเองตามหลักวิถีโตโยต้าอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายผลการสร้างมาตรฐานการควบคุมงานจนสามารถลดต้นทุนและพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้ครอบคลุมสินค้าทุกแบบของบริษัท รวมถึงบริหารงานได้ด้วยตนเองอย่างมืออาชีพ สามารถส่งมอบงานได้ตรงเวลา 100%
จากศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการรักษามาตรฐานการดำเนินงานและวัฒนธรรมไคเซ็นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โตโยต้าและบริษัท รตาวันฯ จึงได้จัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 3” เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์ในการปรับปรุงธุรกิจแก่วิสาหกิจชุมชนในภาคเหนือ ดังนี้
- การวางแผนธุรกิจตลอดทั้งกระบวนการ โดยบอร์ดแสดงการควบคุม (Visualization Board) ช่วยปรับปรุงการวางแผนธุรกิจในภาพรวม กำหนดแผนการขาย การผลิต และการส่งมอบได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างความเชื่อมั่นและความพึงพอใจแก่ลูกค้า
- การเพิ่มผลิตภาพโดยปรับปรุงกระบวนการในการผลิต (ไคเซ็น) เช่น การกำหนดมาตรฐานในการผลิตสินค้า (Standardize) ช่วยลดกระบวนการที่ไม่จำเป็นและการรองาน หรือ การปรับปรุงกระบวนการงานพ่นสี ลดของเสีย ลดเวลาการแก้งาน ส่งผลให้ผลิตได้เร็วขึ้น
- การบริหารสินค้าคงคลังด้วยระบบทันเวลาพอดี บริหารการกำหนดแผนการผลิต การสั่งวัตถุดิบ ตลอดจนติดตามสถานะของสินค้าคงคลังในทุกกระบวนการ ช่วยลดต้นทุนจม ส่งผลต่อการบริหารต้นทุนของธุรกิจในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบัน โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ดำเนินการปรับปรุงธุรกิจชุมชนแล้วเสร็จจำนวน 23 แห่ง และได้ยกระดับสู่การเป็น “ศูนย์การเรียนรู้โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์” จำนวน 3 แห่ง ซึ่งในปี 2565 นี้ บริษัทฯวางแผนที่จะเปิดศูนย์การเรียนรู้ฯเพื่อให้ครบทั้ง 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ อีกทั้งบริษัทฯยังได้นำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการดำเนินโครงการ มาถ่ายทอดเพื่อพัฒนาศักยภาพธุรกิจ ภายใต้นโยบายประชารัฐ โดยความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ อาทิ Thailand Smart Center หอการค้าไทย ดำเนินโครงการ Big Brother พี่ช่วยน้อง และกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม ในการดำเนินงานศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมในจังหวัดกรุงเทพฯ นครราชสีมา ชลบุรี รวมถึงโครงการหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์(CIV: Creative Industry Village) ในจังหวัดพิษณุโลกและอุบลราชธานีอีกด้วย
นายสุรภูมิ อุดมวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “ภายใต้การประกาศวิสัยทัศน์ใหม่ขององค์กรในโอกาสการดำเนินงานในประเทศไทยครบรอบ 60 ปี นั้น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยังคงยึดมั่นในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนความสุขสู่ผู้คนและส่งเสริมให้เกิดความยั่งยืนของสังคมภายใต้ “เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดย โครงการโตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ผ่านการถ่ายทอดแนวความรู้ในการปรับปรุงธุรกิจ ตลอดจนส่งเสริมให้เกิดสังคมแห่งการแบ่งปันความรู้ โดยในอนาคต บริษัทฯ มีเป้าหมายในการขยายศูนย์การเรียนรู้ฯ ต่อเนื่องให้ครบ 12 จังหวัด ตามเขตเศรษฐกิจของกระทรวงอุตสาหกรรม ตลอดจนเฟ้นหานวัตกรรมทางความคิดใหม่ ๆ อาทิ การนำระบบกลไกอัตโนมัติ (Automation) มาปรับใช้กับโครงการฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กลุ่มธุรกิจชุมชน นำไปต่อยอดในการขับเคลื่อนเสถียรภาพแก่เศรษฐกิจของประเทศต่อไป”
“โตโยต้า ร่วมขับเคลื่อนอนาคต”
รายละเอียดเพิ่มเติม
“ศูนย์การเรียนรู้ โตโยต้า ธุรกิจชุมชนพัฒน์ แห่งที่ 3”
ธุรกิจชุมชน : บริษัท รตาวัน จำกัด
จังหวัด : เชียงราย
ผลิตภัณฑ์ : เฟอร์นิเจอร์ไม้สัก
จำนวนสมาชิก : 70 คน
ปัญหา : การผลิต การส่งมอบ การจัดการสินค้าคงคลัง
กิจกรรมการไคเซ็นธุรกิจ ณ บริษัท รตาวัน จำกัด (กรกฎาคม 2560 – ตุลาคม 2561)
ปัญหา | กิจกรรมการปรับปรุง | ผลการปรับปรุง |
1. ผลิตภาพ | งานขึ้นโครงแบบ
– สร้างมาตรฐานการผลิตจนถึงมาตรฐานชิ้นส่วน – แบ่งงานระหว่างช่างกับผู้ช่วยช่างให้เหมาะสม |
ผลิตได้เร็วขึ้น 14 %
ลดเวลาการผลิตโครง จาก 50.2 ชม. เป็น 43.2 ชม. |
กระบวนการพ่นสี
– จัดทำล้อเลื่อนเพื่อเคลื่อนย้ายชิ้นงานระหว่างสถานี – ปรับและลดขั้นตอนการทำงาน เพิ่มระบบหมุนเวียนอากาศ – แยกพื้นที่ห้องพ่นสีและห้องขัด |
ผลิตได้เร็วขึ้น 40%
ลดเวลากระบวนการทำสี จาก 43 ชม. เป็น 25 ชม. |
|
2. คุณภาพ | ย้ายพื้นที่กระบวนการขัดไปยังคลังสินค้าถัดไป | ลดความสูญเสีย
ในกระบวนการผลิตได้ 90% |
ปรับปรุงการไหลของอากาศในห้องพ่นสี | ||
3. การส่งมอบ | จัดทำบอร์ดควบคุมงานเข้าออกวางแผนการผลิต | ส่งมอบงานตรงเวลา 100%
ก่อนไคเซ็น ส่งมอบงานช้า 3 ครั้ง / เดือน |
4. การจัดการสินค้าคงคลัง | สร้างระบบการจัดการสต๊อกวัตถุดิบไม้อัด โดยนำระบบ FIFO เข้ามาใช้ | ลดต้นทุนจมลง 50% |
ปรับระดับสต๊อกให้พอดีกับรอบการใช้ใน 1 เดือน | ||
5. ต้นทุนจมในกระบวนการ | จัดแยกพื้นที่สต๊อกโครงไม้โดยแยกสินค้าที่เป็นต้นแบบ และสินค้าที่รอผลิตออกมาให้ชัดเจน แล้วจึงปรับลดสินค้ารอผลิต (WIP) | ลดเงินจมได้กว่า 150,000 บาท |