โตโยต้า เปิดซอฟต์แวร์ THUMS เทคโนโลยีจำลองร่างกายมนุษย์แบบเสมือนจริงให้ใช้ได้ฟรี
ส่งเสริมการใช้ซอฟต์แวร์ THUMS เพื่อวิเคราะห์อาการบาดเจ็บจากรถชน ยกระดับความปลอดภัยอีกขั้นให้กับยานยนต์
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (โตโยต้า) ประกาศในวันนี้ว่าทางบริษัทได้เปิดซอฟต์แวร์ Total Human Model for Safety หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า THUMS ให้ใช้ได้ฟรีตั้งแต่เดือนมกราคม 2564 เป็นต้นไป โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของบริษัทที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์สังคมแห่งการขับเคลื่อนที่ปลอดภัย ทั้งนี้ THUMS คือโปรแกรมซอฟต์แวร์เทคโนโลยีจำลองร่างกายมนุษย์แบบเสมือนจริงเพื่อความปลอดภัยที่ช่วยให้คอมพิวเตอร์สามารถวิเคราะห์อาการบาดเจ็บของร่างกายมนุษย์ที่เกิดจากอุบัติเหตุรถชนได้ โดยโตโยต้าคาดหวังว่าการเปิดให้ประชาชนสามารถใช้ซอฟต์แวร์ THUMS ได้ฟรีในครั้งนี้จะมีผู้สนใจเข้าใช้งานอย่างกว้างขวางและนำไปสู่การยกระดับความปลอดภัยให้กับยานยนต์ได้ในท้ายที่สุด
ซอฟต์แวร์ THUMS ได้รับการออกแบบเพื่อช่วยสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีความปลอดภัยในยานยนต์โดยความร่วมมือกับบริษัท โตโยต้า เซ็นทรัล อาร์แอนด์ดี แล็บส์ ซึ่ง THUMS ถือได้ว่าเป็นซอฟต์แวร์เทคโนโลยีจำลองร่างกายมนุษย์แบบเสมือนจริงตัวแรกของโลก เมื่อทำการเปิดตัวครั้งแรกในปี 2543 โดย THUMS จะจำลองและวิเคราะห์อาการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นจากกรณีรถชน นับตั้งแต่การเปิดตัวในครั้งนั้นจนกระทั่งการออกซอฟต์แวร์ THUMS ในเวอร์ชั่นที่ 6 ในปีที่แล้วซึ่งเป็นเวอร์ชั่นล่าสุด จะเห็นได้ว่าซอฟต์แวร์ดังกล่าวมีวิวัฒนาการอย่างต่อเนื่องในการเพิ่มความหลากหลายของโมเดลจำลอง ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายของเพศ อายุ และรูปร่างทางกายภาพ ได้แก่ โครงสร้างกระดูก สมอง อวัยวะภายใน ตลอดจนกล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ซึ่งเมื่อเราเปรียบเทียบกับการทดสอบการชนโดยใช้หุ่นจำลองร่างกายคนตามปกติแล้วนั้น จะพบว่าการใช้ซอฟต์แวร์ THUMS มีข้อดีคือสามารถวิเคราะห์อาการบาดเจ็บที่เกิดจากรถชนได้อย่างละเอียดถี่ถ้วนมากกว่าเพราะ THUMS สามารถออกแบบรูปร่างและความแข็งแกร่งของร่างกายมนุษย์ได้ถูกต้องตรงกับความเป็นจริงกว่า นอกจากนี้การสร้างสถานการณ์จำลองในคอมพิวเตอร์ยังอำนวยความสะดวกให้สามารถทำการวิเคราะห์ซ้ำได้ในรูปแบบการชนที่แตกต่างกันออกไป อีกทั้งยังช่วยย่นระยะเวลาและลดต้นทุนที่ใช้ในการพัฒนายานยนต์ในขั้นตอนของการทดสอบการชนได้อย่างมาก
วิวัฒนาการของ THUMS
ปัจจุบัน ซอฟต์แวร์ THUMS ได้ถูกนำมาใช้สำหรับการวิจัยยานยนต์โดยองค์กรต่างๆ รวมทั้งสิ้นกว่า 100 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วน มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย และอื่นๆ ในญี่ปุ่นเละต่างประเทศ โดย THUMS ถูกนำมาใช้เพื่อประโยชน์ในการวิจัยและพัฒนาหลากหลายเทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัย เช่น เข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัย และการออกแบบโครงสร้างยานยนต์เพื่อลดความเสี่ยงในการบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถชนผู้คนบนท้องถนน ทั้งนี้ องค์กรที่ทำหน้าที่ประเมินความปลอดภัยของยานพาหนะต่างก็กำลังพิจารณาการใช้ซอฟต์แวร์ THUMS เพื่อการทดสอบแบบเสมือนจริงในแผนงานการประเมินสมรรถนะของยานพาหนะต่างๆ ในอนาคต
การเปิดซอฟต์แวร์ THUMS ให้ใช้ได้ฟรีนั้น นอกจากจะช่วยให้ผู้คนในวงกว้างสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ประโยชน์ในการวิจัยด้านความปลอดภัยของยานพาหนะแล้ว ยังช่วยผลักดันการพัฒนาฟังก์ชั่นการใช้งานของซอฟต์แวร์ให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากผู้ใช้งานสามารถพัฒนาโมเดลในซอฟต์แวร์ดังกล่าวได้ด้วยตนเองและแบ่งปันผลลัพธ์ให้กับคนอื่นๆ ได้ด้วย
มร.เซอิโก คุซุมากิ สมาชิกของบริษัท แอดวานซ์ อาร์แอนด์ดี แอนด์ เอ็นจิเนียริ่ง ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเปิดซอฟต์แวร์ THUMS ให้ใช้ได้ฟรี ดังนี้
“นับตั้งแต่การเปิดตัว THUMS ในปี 2543 เราพยายามทุ่มเทในการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนเดินหน้าทำงานอย่างหนักเพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์ในเชิงกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ รวมถึงเพิ่มความหลากหลายของโมเดลต่างๆ จนตอนนี้กล่าวได้ว่าซอฟต์แวร์ THUMS ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับโตโยต้าในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีเพื่อความปลอดภัยและพัฒนายานยนต์ของโตโยต้าให้ดียิ่งๆ ขึ้น เราตัดสินใจที่จะเปิดให้ผู้คนสามารถใช้ซอฟต์แวร์นี้ได้ฟรีเพื่อที่จะได้มีผู้คนเข้ามาใช้งานมากขึ้น และเพื่อยกระดับความปลอดภัยของยานยนต์ให้ก้าวหน้าทั่วทั้งแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ ตลอดจนเพื่อช่วยลดอัตราการบาดเจ็บและเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน ทั้งนี้เพื่อสร้างสังคมของเราให้เป็นสังคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น เราหวังว่าซอฟต์แวร์นี้จะถูกนำไปปรับใช้งานอย่างกว้าง ขวางในพื้นที่ต่างๆ อันจะเป็นการปูทางสู่สังคมแห่งการขับเคลื่อนที่เพียบพร้อมไปด้วยยานพาหนะขับเคลื่อนอัตโนมัติและเทคโนโลยีอื่นๆ ในอนาคต”
สำหรับการขายลิขสิทธิ์ของซอฟต์แวร์ดังกล่าวผ่านเจเอสโอแอล คอร์ปอเรชั่น (โตเกียว) และ อีเอสไอ กรุ๊ป (ปารีส) จะสิ้นสุดลงในปี 2563 และหลังจากนั้น THUMS ก็จะเปิดให้สามารถเข้าใช้งานได้ฟรี
ซอฟต์แวร์ THUMS เวอร์ชั่นที่ 4 : โมเดลต่างๆ
โมเดลต่างๆ ในเวอร์ชั่นนี้จะมีลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยรายละเอียด (เช่น โครงสร้างกระดูก สมอง อวัยวะภายใน และอื่นๆ) อีกทั้งยังมีความหลากหลายด้านเพศ อายุ ลักษณะรูปร่างทางกายภาพ และการจัดวางท่าทาง
หมายเหตุ : เวอร์ชั่น 4 , 5 และ 6 จะเปิดให้ใช้งานฟรี
ประวัติความเป็นมาของซอฟต์แวร์ THUMS
ปี | การแนะนำ | รายละเอียด |
2540 | โตโยต้าเริ่มพัฒนา THUMS ร่วมกับ บริษัท โตโยต้า เซ็นทรัล อาร์แอนด์ดี แล็บส์ | |
2543 | เปิดตัวเวอร์ชั่นที่ 1 | เพิ่มรายละเอียดของกระดูกให้กับตัวโมเดล |
2548 | เปิดตัวเวอร์ชั่นที่ 2 | เพิ่มรายละเอียดของใบหน้าให้กับตัวโมเดล |
2551 | เปิดตัวเวอร์ชั่นที่ 3 | เพิ่มรายละเอียดของสมองให้กับตัวโมเดล |
2553 | เปิดตัวเวอร์ชั่นที่ 4 | เพิ่มรายละเอียดของอวัยวะภายในให้กับตัวโมเดล |
2554 | เพิ่มความหลากหลายของรูปร่างทางกายภาพให้กับซอฟต์แวร์เวอร์ชั่นที่ 4 | เพิ่มโมเดลผู้หญิงร่างเล็กและผู้ชายร่างใหญ่ |
2558 | เปิดตัวเวอร์ชั่นที่ 5 | เพิ่มรายละเอียดของกล้ามเนื้อให้กับตัวโมเดล |
2559 | เพิ่มโมเดลเด็กในเวอร์ชั่นที่ 4 | เพิ่มโมเดลเด็กอายุ 3 ปี , 6 ปี และ 10 ปี |
2562 | เปิดตัวเวอร์ชั่นที่ 6 | เพิ่มการจำลองโครงสร้างกล้ามเนื้อเข้ากับอวัยวะภายใน |
2563 | เปิดให้เข้าใช้งานฟรี | เวอร์ชั่นปัจจุบัน |