โตโยต้า สนับสนุนโอลิมปิกและพาราลิมปิก โตเกียว 2020 ด้วยยานพาหนะที่ออกแบบพิเศษ

เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางและการกู้ภัย สำหรับเจ้าหน้าที่และผู้ชมในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก โตเกียว 2020

โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (โตโยต้า) พันธมิตรระดับโลกของการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก โดยประกาศในวันนี้ว่า เพื่อสนับสนุนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก ที่จะจัดขึ้น ณ กรุงโตเกียว ปี 2020 บริษัทได้เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ นั่นคือ ยานพาหนะเคลื่อนย้ายผู้โดยสาร (Accessible People Mover – APM) ซึ่งเป็นยานยนต์ที่   ได้รับการออกแบบพิเศษสำหรับการแข่งขันกีฬานี้

สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะมอบอิสระในการขับเคลื่อนให้กับคนทุกคน ตามแนวคิดของโตโยต้าที่ต้องการสร้างสรรค์ “การขับเคลื่อนสำหรับทุกคน” (Mobility for All) ยานพาหนะเคลื่อนย้ายผู้โดยสารนี้ ท้าทายทุกโจทย์การใช้งานเพื่อตอบสนองความต้องการให้ได้อย่างสูงสุด ด้วยการให้บริการเคลื่อนย้ายผู้โดยสารใน “ช่วงท้ายสุดของการเดินทาง” (last one mile) เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ให้สามารถเดินทางไปถึงพื้นที่จัดการแข่งขันและสถานที่ต่างๆ โดยยานพาหนะเคลื่อนย้ายผู้โดยสารนี้จะให้บริการนักกีฬา เจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขัน ตลอดจนผู้เข้าชมที่มีความต้องการพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุ

ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ และครอบครัวที่มาพร้อมกับเด็กเล็ก นอกจากนี้ยังคาดว่ายานพาหนะเคลื่อนย้ายผู้โดยสารบางส่วนจะถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการกู้ภัยในกิจกรรมตามสถานที่ต่างๆ ในช่วงฤดูร้อนด้วย และในระหว่างการแข่งขัน โตโยต้าจะนำรถยานพาหนะเคลื่อนย้ายผู้โดยสารประมาณ 200 คัน มาใช้งานเพื่อสนับสนุนการรับ-ส่งผู้เข้าร่วมชมกีฬาและเจ้าหน้าที่ให้สามารถเดินทางไปยังสถานที่จัดการแข่งขัน รวมถึงเพื่อเดินทางไปยังจุดต่างๆ ภายในบริเวณงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ที่ใช้จัดกิจกรรมและการแข่งขัน รวมไปถึงหมู่บ้านนักกีฬา

คุณสมบัติหลัก
1.“รุ่นมาตรฐาน”: เพื่อช่วยให้ผู้คนสามารถเดินทางมาร่วมงานได้มากขึ้น เพื่อรับ-ส่งผู้เข้าร่วมงานใน “ช่วงท้ายสุดของการ
เดินทาง” (last one mile)
  • รถไฟฟ้าความเร็วต่ำที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle – BEV) เหมาะสำหรับการขนส่งผู้เข้าร่วมงานและเจ้าหน้าที่ภายในบริเวณสถานที่จัดงาน
  • ใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เข้าร่วมงานทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ นักกีฬา และผู้เข้าร่วมชมงาน ซึ่งรวมไปถึงผู้สูงอายุ ผู้พิการ สตรีมีครรภ์ และครอบครัวที่มาพร้อมกับเด็กเล็ก
  • ยานพาหนะขนถ่ายผู้โดยสารจะถูกออกแบบให้มีเบาะที่นั่ง 3 แถว แถวหน้าเป็นแถวสำหรับคนขับ แถวที่ 2 สามารถโดยสารได้ 3 คน และแถวที่ 3 สามารถโดยสารได้ 2 คน รวมทั้งสิ้น 6 คน ได้แก่ ผู้ขับ 1 คน และผู้โดยสาร 5 คน นอกจากนี้ ในกรณีที่มีผู้โดยสารที่ใช้รถเข็นสำหรับผู้พิการ ก็สามารถพับเบาะในยานพาหนะขนถ่ายผู้โดยสารนี้เพื่อให้มีการใช้งานร่วมกับรถเข็น โดยที่ผู้โดยสารท่านนั้นจะเข้ามาอยู่ในบริเวณแถวที่ 2
  • โตโยต้ายังให้ความสำคัญกับเรื่องความปลอดภัย จึงออกแบบให้ตำแหน่งของเบาะผู้ขับถูกยกสูงและอยู่ตรงกลาง เพื่อให้ผู้ขับสามารถมองเห็นผู้โดยสารได้อย่างชัดเจนและสามารถตอบสนองความต้องการของผู้โดยสารแต่ละคนระหว่างการเข้า-ออกยานพาหนะได้
  • เบาะนั่งของผู้โดยสารสามารถเข้าถึงได้จากด้านข้างของตัวรถทั้งฝั่งซ้ายและฝั่งขวา ยิ่งไปกว่านั้น ในการออกแบบเบาะนั่งนี้ยังได้คำนึงถึงความต้องการอันหลากหลายของผู้ใช้งาน โดยได้มีการติดตั้งราวจับเพื่อความปลอดภัยในทั้งสองฝั่งของยานพาหนะเพื่อช่วยให้การเข้า-ออกยานพาหนะของผู้โดยสารเป็นไปอย่างราบรื่น รวมทั้งยังได้ติดตั้งตะขอยึดรถเข็นและทางลาดเพื่อให้ผู้โดยสารที่ใช้รถเข็น สามารถเข้า-ออกและโดยสารยานพาหนะนี้ได้อย่างสะดวกสบายอีกด้วย

2. รุ่นสำหรับ “การกู้ภัย” : เพื่อใช้ในกิจการกู้ภัยเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินระหว่างการแข่งขัน
รุ่นสำหรับการกู้ภัยนี้จะใช้โครงสร้างพื้นฐานของรุ่นมาตรฐาน แต่พื้นที่ครึ่งหนึ่งของเบาะแถวที่ 2 และ 3 ได้ถูกสำรองไว้สำหรับเตียงสนาม เพื่อให้สามารถขนส่งผู้บาดเจ็บได้อย่างมั่นคงและปลอดภัย ทั้งนี้จะมีการติดตั้งเตียงสนามในยานพาหนะสำหรับการใช้งานด้วย

  • ยานพาหนะได้ถูกออกแบบมาให้มีพื้นที่รองรับเจ้าหน้าที่กู้ภัยจำนวน 2 คน ให้นั่งด้านข้างติดกับเตียงสนาม

ข้อมูลจำเพาะ

รุ่น รุ่นมาตรฐาน รุ่นสำหรับการกู้ภัย
จำนวนผู้โดยสารต่อคัน • ผู้ขับ + ผู้โดยสาร 5 คน
• ผู้ขับ + ผู้โดยสารที่นั่งรถเข็น 1 คน
+ ผู้โดยสาร 2 คน
ผู้ขับ + เจ้าหน้าที่กู้ภัย 2 คน +
ผู้บาดเจ็บ 1 คน
มิติของตัวรถ
(เมตร)
ความยาว : ประมาณ 3.9 x ความกว้าง : ประมาณ 1.6 x ความสูง : ประมาณ 2.0
ระยะทางที่สามารถวิ่งได้ (กิโลเมตร) 100
รัศมีวงเลี้ยวแคบสุด
(เมตร)
4.8
ความเร็วสูงสุด
(กิโลเมตรต่อชั่วโมง)
19