‘ห้องสมุดกรุงศรี ออโต้ แห่งที่ 14’ โอกาสที่เท่าเทียมทางการศึกษาเพื่อเด็กชาวดอย

เปิดโลก สานฝัน ผ่าน ‘สนามเด็กเล่นแห่งความรู้

ด้วยมนต์เสน่ห์ทางธรรมชาติที่รายล้อม ความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์และวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไม ‘เชียงใหม่’ ถึงได้รับการจัดอันดับจากนิตยสารท่องเที่ยวชื่อดังอย่าง เทรเวล แอนด์ เลชเชอร์ (Travel + Leisure) ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวที่ดีที่สุดลำดับ 3 ของโลก[1] แต่กระนั้น จะมีสักกี่คนที่รู้ว่า ศูนย์กลางความสะดวกสบายที่ไม่แพ้เมืองหลวงของประเทศ ปลายทางในฝันของนักเดินทางหลายล้านคนแห่งนี้ จะยังมีเยาวชนอีกจำนวนหนึ่งที่ชีวิตความเป็นอยู่อาจจะไม่ได้สวยงามผันตามตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เติบโตขึ้นมากนัก ดังเช่น เด็กนักเรียนที่โรงเรียนบ้านเวียงแหง โรงเรียนขนาดเล็กที่ซ่อนตัวอยู่บนภูเขาสูง ที่มีความขาดแคลนทางด้านการศึกษาและปัจจัยพื้นฐานอื่นๆอยู่มาก ส่งผลให้การพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นไปอย่างยากลําบาก “กรุงศรี ออโต้” ผู้นำธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ครบวงจร เครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างโอกาสและพัฒนาการศึกษาให้กับเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกล จึงเดินหน้าสานต่อ โครงการห้องสมุด กรุงศรี ออโต้ ส่งมอบ “ห้องสมุดกรุงศรี ออโต้ แห่งที่ 14” ณ โรงเรียนบ้านเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ หนุนสร้างความเสมอภาคทางการศึกษา และโอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้ที่สำคัญ เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนในพื้นที่ได้เกิดการเรียนรู้และสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาตนเองได้ อันจะเป็นบันไดสำคัญช่วยปูทางไปยังเป้าหมายชีวิตที่พวกเขาตั้งไว้ รวมถึงการมีคุณภาพชีวิตและอนาคตที่ดีขึ้น

คนชายขอบและไร้สัญชาติ กับความลำบากที่ยังวนเวียนไม่จากไปไหน

กว่า 3 ชั่วโมงจากตัวเมืองเชียงใหม่ บนเส้นทางที่คดเคี้ยว ลัดเลาะเลียบตามสันเขา ผ่านภูเขาสูง แนวป่าไม้ จนมาถึงโรงเรียนบ้านเวียงแหง “อำเภอเวียงแหงตั้งอยู่ห่างไกลจากตัวเมืองถึง 142 กม. มีชายแดนติดต่อกับประเทศพม่า มีหลากหลายกลุ่มชาติพันธุ์อพยพเข้ามาตั้งรกราก เช่น กะเหรี่ยง ม้ง เมี่ยน ลั๊วะ ถิ่น ไท ลื้อ ไทยใหญ่ จีนฮ่อ มูเซอ เป็นต้น คนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นคนไม่มีสัญชาติ ประกอบอาชีพทําไร่ รับจ้าง หาของป่า มีฐานะยากจนและความเป็นอยู่ที่ลำบาก ผู้ปกครองส่วนใหญ่จึงให้ความสําคัญกับการหาเลี้ยงปากท้องมากกว่าที่จะให้ลูกหลานได้เล่าเรียน ทำให้เด็กๆเหล่านี้ไม่ได้มีการพัฒนาตนเองเท่าที่ควร หรือจะเรียกว่ายังคงย่ำอยู่กับที่ก็ว่าได้ จะถามหาคุณภาพชีวิตหรืออนาคตที่ดีขึ้นก็ดูจะเป็นไปได้ยาก” ร้อยเอกเสกสันต์ ครองสมบัติ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าถึงข้อจำกัดทางภูมิภาค อุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่

บัณฑิตปริญญา ที่ตั้งใจกลับมาเป็นครูเพื่อพัฒนาบ้านเกิด ย้ำอย่างหนักแน่นถึงความสำคัญของการศึกษาหรือการเข้าถึงแหล่งความรู้ ที่จะทำให้คนในพื้นที่หลุดพ้นจากวงเวียนแห่งความลำบากแบบเดิมๆ ว่า “การศึกษาคือแสงสว่างของคนชายขอบและไร้สัญชาติที่นี่ เด็กหลายคนไปบวชเรียน หวังพึ่งร่มกาสาวพัสตร์เพื่อโอกาสทางการศึกษา ส่วนคนที่ต้องทำงาน ก็พยายามส่งเสียตัวเองให้ได้เรียนผ่านกศน. หรือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หากครอบครัวใดที่มีกำลังทรัพย์มากพอ ก็จะพยายามผลักดันให้ลูกหลานได้เข้าเรียนที่โรงเรียนในระบบ เด็กๆทุกคนที่ได้มีโอกาสเรียน จึงรู้ดีว่านี่คือ โอกาสวิเศษของชีวิต เพราะการศึกษาหาความรู้นี่เองที่จะทำให้พวกเขามีอนาคตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

แม้จะมีโอกาสทางการศึกษา ก็ใช่ว่าเส้นทางสู่ความฝันของเด็กนักเรียนชาวเขาจะราบเรียบเสมอไป

“เด็กนักเรียนส่วนใหญ่พูดภาษาไทยไม่ได้ นอกจากตำราเรียนแล้ว โรงเรียนจึงจำเป็นต้องมีการประยุกต์ใช้สื่อการเรียนการสอนอื่นๆ เช่น นิทาน หรือสื่อที่มีรูปภาพ  ประกอบสีสันสดใส มาช่วยกระตุ้นความสนใจในการเรียนรู้” นางสาวรัตติกาล ปันดอน หรือคุณครูบี คุณครูสาวจากจังหวัดแพร่ที่มาประจำที่โรงเรียนบ้านเวียงแหงกว่า 2 ปี เริ่มต้นบทสนทนา ด้วยน้ำเสียงอ่อนหวาน หากแต่แฝงด้วยแววตาของความเป็นครูที่มุ่งมั่นและจริงจัง

“ในยุคที่สื่อดิจิทัลรุกคืบพื้นที่การอ่าน จริงอยู่ที่ความรู้ต่างๆ มักจะหาได้ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก จนเป็นเรื่องปกติในสังคมเมือง แต่ที่โรงเรียนบ้านเวียงแหงในพื้นที่ห่างไกลความเจริญที่เทคโนโลยียังไม่แพร่หลายนัก กลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม นอกจากความรู้ในห้องเรียนแล้ว ห้องสมุดจึงเป็นอีกแหล่งความรู้ที่สำคัญที่จะช่วยเปิดโลกกว้าง พัฒนาทักษะและความสามารถ รวมถึงเป็นสถานที่ที่เด็กๆจะมาใช้ทำกิจกรรม ส่งเสริมให้พวกเขาได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ ห้องสมุดไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างความรู้และพัฒนาความคิด หากแต่ยังช่วยให้เด็กนักเรียนชาวเขาที่นี่ ได้มีโอกาสในการแสวงหาความรู้ที่หลากหลายในบรรยากาศการเรียนรู้ที่สร้างสรรค์ เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในการลดช่องว่างทางการศึกษาระหว่างเด็กนักเรียนในชนบทที่ห่างไกลและเขตเมืองอีกด้วย” คุณครูบีเล่าเสริมถึงความสำคัญของห้องสมุดสำหรับเด็กนักเรียนในพื้นที่สูงห่างไกลความเจริญ

มากกว่าสถานที่จัดเก็บหนังสือ คือโอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้

ทีมอาสากรุงศรี ออโต้ ได้ทราบถึงความขาดแคลนของหลายโรงเรียนบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร จึงได้ลงพื้นที่สำรวจ ทำให้พบว่า โรงเรียนบ้านเวียงแหงยังมีความขาดแคลนในหลายด้าน รวมถึงมีความต้องการที่จะพัฒนาห้องสมุด เนื่องจากห้องสมุดเดิมคับแคบ ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน หนังสืออยู่ในสภาพเก่า ชำรุดทรุดโทรม รวมถึงไม่มีบริการสื่อโสตทัศนูปกรณ์และมัลติมีเดียที่ทันสมัยให้กับเด็กนักเรียนได้เรียนรู้

นางสาวสิริพร ศุภรัชตการ ประธานคณะกรรมการอาสาสมัคร กรุงศรี ออโต้ ประจำปี 2562 เล่าถึงที่มาและหัวใจหลักของกิจกรรมส่งมอบห้องสมุดฯในวันนี้ว่า “ตามความมุ่งมั่นของ โครงการ ห้องสมุดกรุงศรี ออโต้ ที่ต้องการช่วยสร้างโอกาสและพัฒนาการศึกษาให้กับเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกล เราจึงได้เข้ามาสนับสนุนการก่อสร้างห้องสมุดกรุงศรี ออโต้ แห่งที่ 14 ให้กับโรงเรียนบ้านเวียงแหง ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลกว่า 750 เมตร

นับว่าเป็นห้องสมุดกรุงศรี ออโต้ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่สุดและอยู่สูงที่สุดนับตั้งแต่มีโครงการฯมา ห้องสมุดหลังใหม่นี้เป็นอาคารสูงโปร่งสองชั้น ขนาด 80 ตารางเมตร ออกแบบตามความต้องการในการเรียนรู้ของเด็ก คือมีชั้นลอยเพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับอ่านหนังสือเงียบๆ ในขณะที่พื้นที่ด้านล่างสามารถใช้ทำกิจกรรมสันทนาการได้ ด้วยความร่วมมืออันดีจากทั้งพนักงานอาสาสมัครสำนักงานใหญ่ รวมถึงพนักงานอาสาสมัครและพันธมิตรตัวแทนจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในพื้นที่ นอกจากการสนับสนุนทางด้านกายภาพแล้ว เรายังได้จัดเตรียมหนังสือกว่า 200 เล่ม จัดหาคอมพิวเตอร์พร้อมเดินสายสัญญาณอินเตอร์เน็ต เพื่อให้ห้องสมุดกรุงศรี ออโต้ แห่งนี้ เป็นแหล่งศึกษาหาความรู้เต็มรูปแบบ มีความทันสมัยเฉกเช่นเดียวกับห้องสมุดในชุมชนเมือง รวมถึงเป็นประโยชน์สูงสุดต่อน้องๆนักเรียนและคนในชุมชนอีกด้วย”

สนามเด็กเล่นแห่งความรู้ สภาพแวดล้อมที่สร้างสรรค์ เพื่ออนาคตที่สดใส

นางสาววรัญญา พรรณเหล็ก หรือคุณครูวิว คุณครูประจำห้องสมุดขวัญใจเด็กนักเรียนชาวเขา ที่มักจะถูกเด็กๆดักรอหลังเลิกแถวเคารพธงชาติ เพื่อถามคำถามประจำวันว่า ห้องสมุดเปิดหรือยังครับ/ค่ะครู “โรงเรียนบ้านเวียงแหงเปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 หนังสือทำให้พวกเขารอบรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสาร ทันยุคทันสมัย เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ สร้างนิสัยรักการอ่าน เหล่านี้ล้วนแต่ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ ส่งเสริมให้พวกเขามีพัฒนาการในการเรียนที่ดีขึ้น ห้องสมุดในฝันของเด็กนักเรียนชาวเขาที่นี่ เป็นห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือที่ใช้การ์ตูนเป็นสื่อสร้างแรงบันดาลใจ พวกเขาชอบการสืบค้น และเรียนรู้ด้วยตัวเอง ห้องสมุดที่มีการจัดหนังสือเป็นหมวดหมู่ จะช่วยสร้างความสะดวกในการใช้งาน ยิ่งหากมีมุมของเล่นเพิ่มความสนุกสนานระหว่างที่เข้ามาอ่านหนังสือหรือทำกิจกรรม ก็จะยิ่งทำให้พวกเขาอยากใช้เวลาในห้องสมุดมากขึ้น ห้องสมุดไม่เพียงแต่จะเป็นแหล่งค้นคว้าหาความรู้ตามความสนใจ หากแต่ยังเป็นแหล่งของความบันเทิงที่พวกเขาจะได้ใช้เวลาร่วมกันกับเพื่อนๆ หรือถ้าให้เปรียบก็คงเปรียบเสมือน สนามเด็กเล่นแห่งความรู้ ที่โรงเรียนจะขาดเสียไม่ได้” 

เปิดโลกกว้าง สานความฝันที่ ‘ห้องสมุดกรุงศรี ออโต้ แห่งที่ 14’

ห้องสมุดกรุงศรี ออโต้ แห่งที่ 14 ทำให้หัวใจของเด็กนักเรียนโรงเรียนบ้านเวียงแหงพองโตเพียงใด น้องปอย หรือเด็กหญิง ปอย ลุงต๊ะ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านเวียงแหง คงจะเป็นตัวแทนของเพื่อนๆตอบคำถามข้อนี้ได้ดี สาวน้อยในชุดกะเหรี่ยงกับแววตาไร้เดียงสาคนนี้ เป็นหนึ่งในเด็กนักเรียนหลายร้อยคนที่ตื่นแต่เช้ามาช่วยโรงเรียนและคุณครูเตรียมงานต้อนรับพี่ๆทีมอาสาฯ วันนี้เธอรับหน้าที่ทำการแสดงก่อนพิธีการเริ่ม หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจ เธอได้เล่าถึงความดีใจนี้ว่า “พวกเราทุกคนดีใจมากเมื่อรู้ว่าพี่ๆ คณะอาสาสมัคร กรุงศรี ออโต้ จะมาสร้างห้องสมุดใหม่ให้ หนูและเพื่อนๆชอบเข้าห้องสมุด เพราะพวกเราหลายคนยังอ่านภาษาไทยไม่คล่อง จึงชอบมาชอบดูหนังสือภาพประกอบ หรือให้คุณครูอ่านหนังสือนิทานให้ฟัง นอกจากหนังสือใหม่ๆ พวกหนูยังตื่นเต้นกับคอมพิวเตอร์เครื่องใหม่อีกหลายเครื่องที่พวกพี่ๆมามอบให้ การได้อ่านหนังสือดีๆสักเล่มหรือท่องอินเตอร์เน็ต สำหรับพวกเราเป็นเหมือนกับการได้ท่องเที่ยวไปในโลกกว้างเพื่อการเรียนรู้ค่ะ”

“เพราะคนคือทรัพยากรที่มีค่าที่สุด การที่สังคมและประเทศชาติจะพัฒนาได้อย่างยั่งยืน การพัฒนาคนจึงเป็นสิ่งสำคัญ กรุงศรี ออโต้ เชื่อมั่นว่า โอกาสในการเข้าถึงแหล่งความรู้เป็นสิทธิและปัจจัยพื้นฐานที่เยาวชนทุกคนพึงมี ความรู้จะก่อให้บุคคลเกิดการพัฒนาตนเอง อันจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตและประเทศชาติในท้ายที่สุด เรามีความยินดีที่ได้มีโอกาสมาส่งมอบห้องสมุดฯ ณ โรงเรียนบ้านเวียงแหงในครั้งนี้ โดยตลอดระยะเวลา 9 ปีนับตั้งแต่มีโครงการ ‘ห้องสมุดกรุงศรี ออโต้’ มา เราได้ส่งมอบ “ห้องสมุดกรุงศรี ออโต้” ไปแล้วทั้งสิ้น 14 แห่งในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และได้ดำเนินกิจกรรม ตามโครงการ “สร้าง-ซ่อม-เสริม ห้องสมุดกรุงศรี ออโต้” ทั้งสิ้น 12  แห่ง (ปี 2560-2561) และมีแผนดำเนินการที่จะส่งมอบห้องสมุดในปีต่อๆไป อย่างต่อเนื่อง”
นายไพโรจน์ ชื่นครุฑ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวปิดท้าย


โครงการ ห้องสมุดกรุงศรี ออโต้ ริเริ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2553 ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของ กรุงศรี ออโต้ ที่มุ่งสร้างโอกาสและพัฒนาการศึกษาให้กับเยาวชนไทยในพื้นที่ห่างไกล ผ่านการสนับสนุนให้นักเรียนในชนบทที่ขาดแคลนได้เข้าถึงแหล่งความรู้ที่ทันสมัยเช่นเดียวกับนักเรียนในชุมชนเมือง โดยมีอาสาสมัคร กรุงศรี ออโต้ จากทั้งสำนักงานใหญ่และสาขาในพื้นที่ร่วมสนับสนุนการก่อสร้าง พัฒนา ปรับปรุงห้องสมุด รวมถึงสนับสนุนปัจจัยพื้นฐานต่างๆ และมอบทุนการศึกษาให้กับเด็กนักเรียนในโรงเรียน

[1] https://www.travelandleisure.com/worlds-best/cities