สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยร่วมผลักดันนโยบาย ZEV@30 พร้อมเชื่อมั่นนโยบายของว่าที่ผู้ว่า กทม. คนใหม่
ในความร่วมมือเพื่อขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อลดมลภาวะทางอากาศและส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าใน กทม. ให้แพร่หลายยิ่งขึ้นนำ รองกรรมการผู้จัดการบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย
สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมเเสดงความยินดีกับว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ โดยทางสมาคมฯ พร้อมให้ความร่วมมือด้านการผลักดันนโยบายยานยนต์พลังงานสะอาด ที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร มีนโยบายที่เกี่ยวข้อง ได้เเก่ การสนับสนุนอีโคซิสเต็มด้านยานยนต์ไฟฟ้าในกรุงเทพมหานคร รวมไปถึง นโยบายที่เกี่ยวกับการลดฝุ่นและมลภาวะ เช่นผลักดันให้เกิด Low Emission Zone และการจัดการเพื่อลดฝุ่น ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในการปรับปรุงเครื่องยนต์เก่า ซึ่งนโยบายต่างๆเหล่านี้อ้างอิงจากเว็บไซต์ www.chadchart.com ที่มีทั้งหมด 214 นโยบาย
ด้านคุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยกล่าวว่า “ทางสมาคมพร้อมให้ความร่วมมือกับกรุงเทพมหานครฯ และทุกๆหน่วยอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และเพื่อสอดรับกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนให้ประชาชนใช้ยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย ZEV@30 ทั้งนี้ทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยพร้อมสนับสนุนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าของว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในการผลักดันโครงการด้านการเดินทางและสิ่งแวดล้อมที่ดี และสนับสนุนให้เกิดสถานีชาร์จและสถานีสลับแบตเตอรี่มากขึ้น อันจะช่วยลดปัญหามลภาวะทางอากาศในกรุงเทพมหานครได้ในอนาคต”
นอกจากนี้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาทางสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ร่วมกับ อินฟอร์มามาร์เก็ตส์ จัดงานสัมมนาภายใต้หัวข้อ ZEV@30 “ปั้นไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตยานยนต์สมัยใหม่ เพื่อการส่งออกของภูมิภาคอย่างยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นโดยอินฟอร์มามาร์เก็ตส์ ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (Bitec)ฮอลล์ 101 โดยมี คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวต้อนรับพร้อมด้วย คุณชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมลงทุน (BOI) กล่าวเปิดงาน
ในประเทศไทยรัฐบาลได้มีการสนับสนุนเเละส่งเสริมในเชิงนโยบายทั้งผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าเเละผู้ซื้อ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนเเละการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ทาง คณะกรรมการส่งเสริมลงทุน (BOI) โดย คุณชนินทร์ ขาวจันทร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการฯ กล่าวเปิดงานว่า “ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ได้มีมาตรการส่งเสริมการลงทุนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ตั้งเป้าให้ประเทศไทย ภายในปี 2030 ให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเเพร่หลาย โดย BOI รับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชน และพร้อมผลักดันเเละส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเติบโตมากยิ่งขึ้น”
ต่อมาเปิดงานเสวนาท่านเเรกโดย คุณฉันทกร เดวิชญ์ กริดวิชญยาการ อุปนายกฯ ฝ่ายส่งเสริมการใช้สมาคมฯ เเสดงปาฐกถา ในหัวข้อ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเเละการลงทุนเเบบครบวงจร เพื่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน กล่าวว่า “เเนวโน้มการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยมีเเนวโน้มที่ดีขึ้นหากเทียบกับช่วงปี 2015 ตั้งเเต่ช่วงเริ่มก่อตั้งสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย ทั้งนี้เป็นเพราะเทรนด์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าจากทั่วโลก รวมไปถึงประเทศไทย ประกอบการสนับสนุนนโยบายกระตุ้นเเละส่งเสริมการใช้ของภาครัฐ ในอนาคตความต้องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศจะเพิ่มขึ้นอย่างเเน่นอน”
ถัดมาเป็นการเสวนาในหัวข้อ “ไทยศูนย์กลางการผลิตยานยนต์สมัยใหม่เพื่อการส่งออกของภูมิภาคอย่างยั่งยืน” เริ่มด้วยคุณกิตติศักดิ์ เงินงอกงาม ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบ พลังงาน ภาคพื้น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) เผยว่า “ในส่วนของภาคเอกชน เรามีความพร้อมในด้านการขยายฐานการผลิตชิ้นส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติม ทำให้ชิ้นส่วนสำคัญของยานยนต์ไฟฟ้าจะถูกนำไปติดตั้งต่อไป รวมไปถึงจุดชาร์จต่างๆ ที่ทางเดลต้าได้ร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจต่างๆ เเละตั้งเป้าจะติดตั้งเพิ่มต่อไปเพื่อกระจายในทั่วประเทศ”
ด้าน คุณสมภพ เกลียวสัมพันธ์ ประธานคลัสเตอร์ระบบอัตโนมัติเพื่อการอุตสาหกรรม สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เเละกรรมการผู้จัดการ บริษัท เวลเด็กซ์ จำกัด ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า “ในปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามามีบทบาทมากขึ้น มีการใช้วัสดุชนิดใหม่เข้ามาผลิตชิ้นส่วนมากขึ้น ใช้เทคโนโลยีการผลิตสูงขึ้น ทางสมาคมส่งเสริมการรับช่วงต่อการผลิตไทย ได้ให้ความสนใจและเตรียมพร้อมพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเพื่อรองรับในการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญครั้งนี้ อนึ่งผู้ประกอบการรับช่วงการผลิตที่อยู่ล่างห่วงโซ่อุปทานจะได้รับผลกระทบอย่างมากในการเปลี่ยนผ่าน ภาครัฐควรให้ทิศทางชัดเจนในการเปลี่ยนผ่านเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศต่อไป”
ในส่วนของ ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) ให้ความเห็นในการผลักดันไปถึงเป้า30@30 นั้น คงจะต้องผลักดันให้สามารถบรรลุเป้าระยะใกล้ปี 2025 ก่อน ในส่วนของการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมที่ครบวงจรนั้น ประเด็นเรื่องศูนย์ทดสอบให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานทั้งในเรื่องความปลอดภัยนั้นสำคัญมาก ซึ่งขณะนี้การให้บริการให้ประเทศไทยมีไม่เพียงพอ อีกทั้งมีค่าใช้จ่ายที่สูงภาครัฐควรจะมีมาตรการสนับสนุนดูแลผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดเล็ก เช่นผู้ออกแบบมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก รวมถึงผู้ประกอบการทำยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต่างๆ
สุดท้าย ผศ.ดร.อุเทน สุปัตติ อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย เปิดเผยว่า “ในเรื่องการพัฒนาคนสำคัญมากที่ทางภาครัฐจะต้องกำหนดนโยบายการพัฒนาเเละเเนวทางที่ชัดเจน เพราะเรามีเวลาเหลือเพียงอีก 8 ปี(2022-2030) นับจากนี้ที่จะก้าวเข้าสู่สังคมยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว ดังนั้นช่วงของการเปลี่ยนถ่ายนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเตรียมพร้อมบุคลากรในทุกมิติอย่างเร่งด่วน ทั้งบุคลากรที่อยู่ในระบบการศึกษา มหาวิทยาลัย และอาชีวศึกษา ที่ต้องมีองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ โดยควรเน้นทักษะการพัฒนาและสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นโดยคนไทยผ่านกระบวนการวิจัยและสร้างนวัตกรรม ฉะนั้นภาครัฐควรให้ความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาบุคลากรในทุกมิติ เพราะบุคลากรเหล่านี้จะกลายเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยอย่างยั่งยืน”