โตโยต้า ร่วมมือ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยและสวทช. มอบรางวัลโครงการ “ลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า”
แก่เยาวชน-ชุมชน เพื่อส่งเสริมการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (NANOTEC) จัดพิธีมอบรางวัลถ้วยพระราชทาน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และรางวัลเกียรติคุณ โครงการลดเปลี่ยนโลก ปีที่ 2 ให้แก่ผู้ชนะ ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธรและศูนย์ประชุมวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568
ความร่วมมือระหว่าง บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ภายใต้ชื่อ “โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า” เกิดจากการตระหนักถึงความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์มลภาวะ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน จึงมุ่งเน้นการส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงให้ความสำคัญกับสถานศึกษาในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีมาพัฒนาเพื่อปรับใช้ในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า จัดขึ้นเป็นปีที่ 2 ด้วยวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนและเยาวชนไทยมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์กิจกรรมและนวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน โดยประกอบด้วย โครงการย่อย 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” และ “นวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก”
นายสุวิทย์ ไชยประสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า เกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ในการส่งเสริมให้เยาวชนและชุมชนตระหนักถึงความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตลอดจนสนับสนุนแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการให้ความรู้และการดำเนินกิจกรรมที่สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมและขยายผลได้ในระดับประเทศ ตลอดระยะเวลาการดำเนินโครงการ เพื่อตอบสนองเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน เราได้รับความร่วมมืออย่างดีจากภาคส่วนต่าง ๆ ที่ร่วมกันคิดค้นและพัฒนาแนวทางเพื่อลดการใช้พลังงานและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผมขอชื่นชมและขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการให้ประสบความสำเร็จ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการขยายผลและสานต่อแนวทางการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป”
รางวัลโครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ชุมชนบ้านดอนยาวน้อย เทศบาลตำบลวังหิน จังหวัดนครราชสีมา
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ ชุมชนบ้านหัวทุ่ง องค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ ชุมชนบ้านคลองอาราง องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแก้ง จังหวัดสระแก้ว
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า “โครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก มีชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีใจรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ความสนใจส่งใบสมัครเข้าร่วมมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านเข้ารอบนั้น ต่างก็ได้รับความรู้เพิ่มเติมทั้งจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปพัฒนากิจกรรมในชุมชนของตนเอง โดยโครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก ได้มุ่งเน้นการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน ตามแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มการดูดกลับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งการใช้พลังงานทางเลือก การใช้น้ำอย่างรู้คุณค่าและรักษาคุณภาพแหล่งน้ำ การเดินทางที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การจัดการขยะอย่างถูกวิธี ลดการใช้สารเคมีในการเกษตร ลดการเผา และการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียว โดยในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เราได้เห็นพลังของชุมชนในการริเริ่มและดำเนินโครงการที่สร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ความมุ่งมั่นของทุกท่านคือเครื่องยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากชุมชน”
“กระผมขอชื่นชมในความพยายามของชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งที่ฝ่าฟันจนผ่านเข้ามาถึงรอบสุดท้าย และขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวันนี้ ทุกท่านคือแบบอย่างของความร่วมมือและความรับผิดชอบต่อโลกใบนี้ ความสำเร็จของท่านจะเป็นแรงบันดาลใจและเป็นต้นแบบที่ดีให้กับชุมชนอื่น ๆ ทั่วประเทศในการก้าวเดินไปสู่สังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนต่อไป”
รางวัลโครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก
รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย นครศรีธรรมราช โครงการ “นวัตกรรมกังหันลมดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์เสริมประสิทธิภาพด้วยกราฟีนและเส้นใยไมซีเลียม”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิค สุราษฎร์ธานี โครงการ “ต้นไม้ประดิษฐ์สำหรับการดักจับคาร์บอน”
รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ โรงเรียนสงวนหญิง สุพรรณบุรี โครงการ “การลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้เครื่องปรับอากาศส่งผลต่อการลดค่าไฟฟ้า”
ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจ ลิมปิจำนงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “สวทช. ในฐานะหน่วยงานที่เป็นเป็นขุมพลังหลักของประเทศในการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ได้ให้การสนับสนุนองค์ความรู้ เพื่อการประดิษฐ์คิดค้น สร้างสรรค์และพัฒนาผลงานนวัตกรรมของเยาวชนผ่านโครงการ ”นวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก” ซึ่งเป็นการประกวดผลงานและแนวคิดด้านนวัตกรรมของเยาวชน ในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) มาพัฒนาเป็นต้นแบบเพื่อปรับใช้ในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการเป็นนักเรียนระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (สายสามัญ) และนักศึกษาระดับอาชีวศึกษา (สายอาชีวศึกษา) ซึ่งโครงการนี้ดำเนินงานหลักโดยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ร่วมกับหน่วยงานภายใต้สวทช. และพันธมิตร”
ผู้อำนวยการ สวทช. ชี้ว่า “นอกจากรางวัลที่ได้ ทีมที่ชนะเลิศ จะได้รับการสนับสนุนต่อยอดให้มีการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้เพื่อพัฒนานวัตกรรมการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยจัดตั้งเป็นโครงการนำร่อง ณ สถานศึกษาที่ได้รับรางวัล ชี้ให้เห็นภาพของโครงการที่ไม่เพียงมุ่งเน้นการพัฒนาทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่ยังปลูกฝังจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม ให้เยาวชนได้ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชนของตน และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนและเยาวชนให้สามารถบูรณาการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ต่อยอดสู่การพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยนาโนเทคโนโลยีที่จับต้องได้”
“ซึ่งเราในฐานะผู้สนับสนุนก็หวังให้เยาวชนทุกคนพัฒนานวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง ด้วยศักยภาพและการสนับสนุนที่ถูกทิศทาง จะช่วยพัฒนาให้ก้าวขึ้นเป็นนักนวัตกรที่สามารถสร้างนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยเปลี่ยนโลก มีประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งเป็นกำลังสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างสังคมที่ยั่งยืนในอนาคตเน้นว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะช่วยให้เยาวชนและชุมชนสามารถพัฒนาที่ยั่งยืนได้ต่อไป” ศาสตราจารย์ ดร. ชูกิจทิ้งท้าย
ผู้ชนะเลิศทั้ง 2 โครงการ จะได้ไปนำเสนอผลงานแก่ผู้บริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงศึกษาดูงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรมต่าง ๆ จากญี่ปุ่น เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดผลงานของตน โดยชุมชนที่ชนะเลิศจะได้รับการส่งเสริมองค์ความรู้สำหรับการพัฒนาชุมชนของตนให้เป็นแหล่งเรียนรู้ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” ในขณะที่โรงเรียนที่ชนะเลิศจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนสร้าง “นวัตกรรมต้นแบบ” ขนาดใช้ได้จริงเพื่อนำไปสู่ชุมชนต่อไป