7 องค์กรชั้นนำของไทย ร่วมผลักดันคอนเซ็ปต์เศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยโครงการ CHOICEISYOURS ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม

ในภาพ (จากซ้าย) คุณกฤษฎา อุตตโมทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารกิจการองค์กร บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ,คุณภากมล รัตตเสรี กรรมการและรองเหรัญญิก มูลนิธิชัยพัฒนา ,คุณวสุพล ธารกกาญจน์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย ,คุณเมธาประภาวกุล ผู้อำนวยการสำนักงานการบุคคลกลาง เอสซีจี ,คุณสุพัตรา จิราธิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และภาพลักษณ์ กลุ่มเซ็นทรัล ,คุณศิระอุดล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน)  ,คุณกลอยตา ณ ถลาง รักษาการรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ งานบริหารความยั่งยืนและสื่อสารองค์กร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน)
พร้อมแนะนำ บางจาก คอร์ปอเรชัน ในฐานะพาร์ทเนอร์ใหม่ และปรับโฉมรูปแบบการแข่งขันให้เข้มข้นยิ่งขึ้น

บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย มูลนิธิชัยพัฒนา เอสซีจี ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย กลุ่มเซ็นทรัลโนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ พร้อมขยายความร่วมมือกับอีกหนึ่งพันธมิตร บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) จับมือต่อยอดโครงการ CHOICEISYOURS ต่อเนื่องเป็นปีที่สาม เชิญชวนนิสิตนักศึกษาจากสถาบันศึกษาทั่วประเทศ เข้าร่วมแข่งขันประกวดแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนอกจากจะเปิดตัวอีกหนึ่งองค์กรชั้นนำอย่างบางจากในฐานะพาร์ทเนอร์ใหม่แล้ว ในปีนี้ โครงการ CHOICEISYOURS ยังได้มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบและกติกาการแข่งขันใหม่ เพื่อยกระดับความเข้มข้นของกิจกรรมและส่งเสริมให้นิสิตนักศึกษาร่วมผลักดันการปรับเปลี่ยนเพื่อความยั่งยืนในภาคส่วนต่าง ๆ ได้อย่างเป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น พร้อมยกระดับศักยภาพในกลุ่มคนเจเนอเรชันใหม่ ด้วยโครงการฝึกอบรมและการได้เรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานจริง พร้อมมอบโอกาสในการร่วมงานกับองค์กรชั้นแนวหน้าทั้งในประเทศไทยและในระดับโลก

โครงการ CHOICEISYOURS 2024 เปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษามีอิสระในการแสดงความคิดสร้างสรรค์ เพื่อนำเสนอโครงการซึ่งประยุกต์ใช้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) โดยหลังจากการประกาศรับสมัคร ผู้เข้าแข่งขันจะต้องนำเสนอโครงการเพื่อแก้โจทย์ด้านความยั่งยืนจากแต่ละองค์กรพันธมิตร ซึ่งจะมีการคัดเลือกโครงงานที่ผ่านเข้ารอบ 60 ทีม (แบ่งออกเป็นทีมละ 2 คน รวมจำนวน 120 คน) ในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2567 เพื่อเดินหน้าเข้าสู่กิจกรรมฝึกอบรมและทัศนศึกษาจากผู้เชี่ยวชาญต่อไป ก่อนที่จะมีการคัดเลือกในรอบรองชนะเลิศให้เหลือ 18 ทีมในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 และรอบตัดสินในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ที่จะถึงนี้ โดยทีมที่ได้คะแนนสูงสุดในแต่ละหัวข้อโจทย์ จะได้รับโอกาสในการเข้าฝึกงานกับองค์กรระดับชั้นนำของประเทศต่อไป

สำหรับโครงการในปีนี้ ซึ่งได้ยกระดับความร่วมมือให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยการจับมือกับบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) อีกหนึ่งองค์กรพันธมิตรซึ่งสนับสนุนโครงการด้านความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสังคมไทยมาอย่างต่อเนื่อง โดยหนึ่งในจุดประสงค์หลักของโครงการในปีนี้คือ การเผยแพร่องค์ความรู้เรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแนวคิด 4 ด้านเรื่อง Rethink, Reduce, Reuse, Recycle ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างในกลุ่มนิสิตนักศึกษาและคนไทยทั่วไป รวมทั้งได้ร่วมกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และหาแนวทางเพื่อร่วมยกระดับศักยภาพของนิสิตนักศึกษาไทย ตามโจทย์ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของแต่ละองค์กร ดังต่อไปนี้

  1. บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทยกับโจทย์เรื่องการบริหารจัดการขยะกล่องกระดาษจากซัพพลายเออร์ ซึ่งอะไหล่แต่ละชิ้นจะถูกแพ็คมาในกล่องกระดาษขนาดต่าง ๆ ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่ถูกวิธี ก็จะทำให้เกิดขยะจากบรรจุภัณฑ์กล่องกระดาษจำนวนมากในแต่ละเดือน โดยโจทย์ที่ผู้เข้าแข่งขันจะต้องนำเสนอแนวคิดแก้ไข คือ ถ้าหากในระยะเวลา 1 เดือน มีปริมาณกล่องกระดาษที่ต้องถูกกำจัดประมาณ 1,000 กิโลกรัม ให้ผู้เข้าร่วมแข่งขันนำเสนอแนวคิดการจัดการกับขยะกล่องกระดาษดังกล่าวโดยใช้เศรษฐกิจหมุนเวียน โดยแนวคิดที่นำเสนอจะต้องสร้างมูลค่าให้แก่ขยะกล่องกระดาษให้ได้มากกว่า 10 บาท/กิโลกรัม
  2. มูลนิธิชัยพัฒนาและกลุ่มเซ็นทรัล ด้วยโจทย์ที่เน้นเรื่องการนำเสนอบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จากการประยุกต์ใช้แนวคิดเรื่อง Rethink/Reduce/Reuse/Recycleเพื่อรังสรรค์ขึ้นเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลกใช้ในการบรรจุอาหาร, ต้นไม้ หรืออื่น ๆ ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าต่อยอดสินค้าให้น่าสนใจ และมีความทันสมัย เพื่อการวางจำหน่ายที่ร้าน Good Goods สาขาเซ็นทรัลเวิลด์ นอกจากนี้ ยังมีโจทย์เรื่องการออกแบบป้ายโครงการเกี่ยวกับพืช ผัก ผลไม้ ให้มีเอกลักษณ์และสื่อสารเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมและการลดปริมาณขยะในอนาคตได้อย่างชัดเจน
  3. เอสซีจี “องค์กรแห่งโอกาส” พร้อมเปิดพื้นที่ให้นิสิตนักศึกษาจากสถาบันศึกษาทั่วประเทศมาปล่อยแสง แสดงพลัง ร่วมเสนอความคิดสร้างสรรค์ด้วยนวัตกรรมกรีน ด้วยการนำวัสดุที่ผ่านการใช้งานมาแล้ว หรือวัสดุเหลือใช้ (Waste) มาใช้ทดแทน“วัตถุดิบจากธรรมชาติ” เพื่อผลิตสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง หรือบรรจุภัณฑ์สินค้า ตามแนวคิด Circular Economy ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ที่ไม่มีประโยชน์ เพราะเราเชื่อว่า ไอเดียจากคนรุ่นใหม่จะเป็นพลังสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้เป็นไปได้ ตามแนวทาง Passion for Inclusive Green Growth
  4. ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) มองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีความรุนแรงมากขึ้น จึงเห็นความจำเป็นให้นักศึกษาประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Generative AIหรือ AI ขั้นสูงที่สามารถเรียนรู้เชิงลึกจากชุดข้อมูลที่มีอยู่ และใช้องค์ความรู้เหล่านั้นมาสร้างผลลัพธ์ใหม่ ๆ ที่มนุษย์ต้องการได้ โดยนิสิตนักศึกษาจะต้องนำเทคโนโลยี Generative AI นี้มาประยุกต์ใช้ในการช่วยลดการใช้ทรัพยากร หรือจัดการของเสียอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เชิงบวกได้รวดเร็วขึ้น ง่ายดายยิ่งขึ้น เพิ่มประสิทธิผล ทั้งยังช่วยขยายแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างยิ่งกว่าเดิม
  5. โนเบิลดีเวลลอปเมนท์ การก่อสร้างอาคารของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ สามารถสร้างขยะก่อสร้างจำนวนมหาศาลที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทางโนเบิลจึงมอบโจทย์เรื่องการนำเสนอนวัตกรรมวิธีการจัดการขยะก่อสร้างให้กับโครงการก่อสร้างย่านอารีย์และสุขุมวิท เพื่อสร้างประโยชน์ต่อชุมชน ทั้งในแง่ความเป็นอยู่ สุขภาพ หรือการสร้างรายได้ และเพื่อพัฒนาการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างยั่งยืนให้กับองค์กร
  6. บางจาก คอร์ปอเรชัน ซึ่งดำเนินธุรกิจภายใต้วิสัยทัศน์รังสรรค์โลกยั่งยืนด้วยนวัตกรรมสีเขียว มอบโจทย์เรื่องการเสริมสร้างชุมชนที่ยั่งยืนผ่านธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตด้วยการรวบรวมน้ำมันปรุงอาหารใช้แล้วจากภาคครัวเรือนหรือชุมชน เพื่อผลิตเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel: SAF) ตามโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” ของบางจากฯ ซึ่งรณรงค์การเก็บรวบรวมน้ำมันปรุงอาหารที่ใช้แล้ว มาผลิต SAF เพื่อส่งเสริมทั้งเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy) รวมถึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน

โครงการการแข่งขันแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและการพัฒนาอย่างยั่งยืน “CHOICEISYOURS“ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤติของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศในปัจจุบัน ผ่านมุมมองของนิสิตนักศึกษาซึ่งเป็นตัวแทนของคนร่นใหม่ในประเทศไทย เพื่อผลักดันให้เกิดการทำงานประสานกันระหว่างเยาวชนผู้เข้าร่วมประกวด ชุมชน รวมทั้งองค์กรต่าง ๆ ในประเทศ และร่วมขับเคลื่อนการใช้ทรัพยากร ธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต ถือเป็นการตอกย้ำถึงความมุ่งมั่นของทั้ง 7 องค์กรพันธมิตร ที่ต้องการร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวก รองรับอนาคตสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในประเทศไทย

นิสิตและนักศึกษาที่สนใจเข้าร่วมโครงการ สามารถดูรายละเอียดและสมัครได้ที่ https://www.bmw.co.th/th/discover/choice-is-yours.html พร้อมส่งวิดีโอแนะนำทีมและนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับโครงการ พร้อมแผนการทดลองโดยสังเขป ระหว่างวันที่ 6 มิถุนายน – 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2567 และสามารถติดตามข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับการแข่งขันได้ที่ CHOICEISYOURS Facebook Fanpage