โครงการนิสสัน “แค่ใจก็เพียงพอ” ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้ชุมชน ด้วยการนำของเหลือใช้มาสร้างสรรค์เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
ด้วยความร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาชั้นปีที่ 1 ออกแบบและจัดฝึกอบรมให้แก่ชุมชนปากน้ำปราณ ช่วยในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่สามารถวางจำหน่ายได้
นิสสัน มีส่วนช่วยสนับสนุนการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้กับชุมชนปากน้ำปราณ โดยนำของเหลือใช้ในชุมชน ผ่านกระบวนความคิดสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่กลายเป็นผลิตภัณฑ์มีมูลค่า ภายใต้โครงการ “แค่ใจก็เพียงพอ”
นิสสันร่วมกับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะสถาปัตย์กรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กว่า 60 คน ทำงานร่วมกับชุมชนในการพัฒนา และนำเสนอผลงานสร้างสรรค์ จนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปขายอันก่อให้เกิดรายได้จากของเหลือใช้ในท้องถิ่น
“นิสสัน มีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาทุกคนได้แรงบันดาลใจจากโครงการฯ นำความมุ่งมั่น และความคิดสร้างสรรค์ ในการนำของเหลือใช้กลับมาเป็นผลิตภัณฑ์ให้เกิดประโยชน์ในเชิงธุรกิจ มีความสวยงาม แปลกใหม่ที่เป็นเอกลักษณ์ และสามารถวางจำหน่ายในท้องตลาดได้อย่างแน่นอน” ปีเตอร์ แกลลี รองประธาน สายงานสื่อสารองค์กร นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าว “เชื่อว่าการเรียนรู้จากโครงการนี้ จะทำให้นักศึกษาท้าทายความสามารถในสถานการณ์จริง ให้สร้างสรรค์ผลงานที่มีโดดเด่น และมีความแตกต่าง อีกทั้งได้รับประสบการณ์ในการทำงานสำหรับอาชีพที่ทุกคนเลือกในอนาคต”
ต้นแบบผลิตภัณฑ์ ประกอบไปด้วย กระถางต้นไม้ที่ย่อยสลายได้เอง ทำจากไบโอพลาสติกและวัสดุจากธรรมชาติ เช่น กะลามะพร้าวและใบสนแห้ง แจกันทำจากขวดแก้วเหลือใช้และเชือก กระเป๋าอีโคถักด้วยเชือกหรือหนัง รองเท้า “รี-ปราณ’ ทำจากของเหลือใช้และเชือกที่ทำจากวัสดุรีไซเคิล กระเป๋าถือ “โคเชลล์” ทำจากกะลามะพร้าวและเชือกหรือตาข่าย โคมไฟที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงของแมงกะพรุน ทำจากอวนตาข่ายที่ไม่ใช้แล้ว
หัวหน้าและที่ปรึกษาโครงการอย่าง อาจารย์จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกล่าวว่า นักศึกษาต้องเผชิญกับปัจจัยหลายอย่าง เมื่อต้องมารับมือกับความท้าทายในสถานการณ์จริงภายใต้โครงการนี้
“นักศึกษาต้องตรวจสอบรายการวัสดุเหลือใช้ในชุมชนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายสองประการ คือ สร้างผลิตภัณฑ์ที่ขายได้ ในขณะที่ ต้องลดปริมาณของเหลือใช้ ทำให้พวกเขาสามารถประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่น่าตื่นเต้นและสร้างสรรค์ จากนั้นจึงนำเสนอและถ่ายทอดวิธีการผลิตสิ่งของเหล่านี้ให้กับชาวบ้านในชุมชน” อาจารย์จารุพัชร กล่าว
วัสดุส่วนใหญ่ที่นำมาใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีดีไซน์ที่สวยงาม (upcycle) นั้นเก็บมาจากบริเวณรอบๆ ชุมชนปากน้ำปราณ ซึ่งรวมถึงอวนตาข่าย ขวดแก้ว ถุงพลาสติก และวัสดุธรรมชาติ เช่น ใบสน และกะลามะพร้าว
นักศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับประสบการณ์การเรียนรู้ที่ไม่เหมือนใครผ่านการออกแบบผลิตภัณฑ์จากของเหลือใช้ในโครงการนี้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนอีกด้วย
นางสาววรรณอนงค์ เต็มวัฒนางกูร นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ได้รับแรงบันดาลใจจากการทำงานในโครงการนี้ กล่าวว่า “ดิฉันได้รับความรู้มากมายจากโครงการนี้ ตั้งแต่วิธีการจำแนกและแยกประเภทของเหลือใช้เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ไปจนถึงเทคนิคต่าง ๆ ที่ใช้ในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ต้นแบบ มีความท้าทายมากมายระหว่างทาง ด้วยคำแนะนำจากอาจารย์จารุพัชร ทำให้เราสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมได้ นี่เป็นบทเรียนอันมีค่าที่ดิฉันมั่นใจว่าเราอาจไม่สามารถเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้จากที่อื่นแล้ว”
นางสาวพิมพลอย ทรัพย์เจริญ นักศึกษาอีกหนึ่งคนเห็นด้วยว่า “โครงการนี้สอนให้ดิฉันมีความเสียสละและนึกถึงผู้อื่นก่อนตนเอง ดิฉันรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ดำเนินรอยตามศาสตร์พระราชาและแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระมหากษัตริย์ไทย ดิฉันรู้สึกมีความสุขมากที่สามารถช่วยเหลือผู้คนในชุมชนท้องถิ่นเหล่านี้ด้วยการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่ง่ายต่อการผลิตซ้ำและช่วยให้พวกเขาสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างรายได้เสริม ดิฉันรู้สึกขอบคุณมากที่ได้รับโอกาสนี้”
ชาวบ้านชุมชนปากน้ำปราณต่างประทับใจกับโครงการ “แค่ใจก็เพียงพอ” ของนิสสัน และความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา “ผมรู้สึกทึ่งที่ได้เห็นนักศึกษาเหล่านี้รู้จักวิธีการนำของเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่ นักศึกษาใช้ความคิดและมีความพยายามอย่างมากในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เหล่านี้อย่างเห็นได้ชัด” นายสมเดช นาคดี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนบ้านคลองเก่า กล่าว “ผมรู้สึกตื้นตันใจที่ได้เห็นนักศึกษาที่มีความสามารถจำนวนมาก อุทิศตนเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ผมมั่นใจว่าพวกเขาจะช่วยเหลือคนในชุมชนของเราในการสร้างรายได้เสริม”
อาจารย์จารุพัชร ได้กล่าวขอบคุณนิสสัน ประเทศไทย สำหรับการสนับสนุนและโอกาสในการเข้าร่วมโครงการ ซึ่งเป็นปีที่สอง ภายใต้โครงการ “แค่ใจก็เพียงพอ” ซึ่งมีส่วนช่วยให้นักศึกษามีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและเรียนรู้การทำงานเป็นทีมเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แก่ผู้อื่น ”กิจกรรมนี้ยังสอนให้พวกเขาเห็นคุณค่าที่ซ่อนอยู่ของวัสดุที่เหลือใช้ ดิฉันมั่นใจว่าหลังจากโครงงานนี้ นักศึกษาจะสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”
สำหรับนิสสัน โครงการฯ นี้ประกอบไปด้วยสามสิ่งสำคัญ ได้แก่ ชุมชน การทำงานร่วมกัน และการอนุรักษ์ ปีเตอร์ แกลลี ได้กล่าวเสริมไว้เพิ่มเติมว่า “นิสสัน หวังว่าโครงการเล็กๆ นี้จะสามารถเป็นแรงบันดาลใจให้กับชุมชนอื่นๆ ทั่วประเทศไทยในการสร้างโครงการจากท้องถิ่นที่ช่วยลดของเหลือใช้ในขณะเดียวกันก็สร้างโอกาสในการหารายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนสำหรับพวกเขา”
ผู้ที่สนใจ สามารถติดตามข่าวสารของโครงการนี้ ผ่านทางเฟซบุคเพจ “แค่ใจก็เพียงพอ”