โครงการพัฒนาทักษะภาวะผู้นำสำหรับเด็กและเยาวชนของนิสสัน ช่วยเสริมสร้างทักษะใหม่ ๆ  ให้แก่นักเรียน

สานฝันอนาคตของชาติ: การจัดสวนในขวดแก้ว เปิดโลกใบใหม่ให้กับ โบว์ เด็กนักเรียนอายุ 17 ปี ได้อย่างไร

“หนูไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า การเข้าร่วมโครงการพัฒนาทักษะภาวะผู้นำสำหรับเด็กและเยาวชน ภายในสามวันนั้นจะช่วยเปลี่ยนมุมมองชีวิตของหนูไปโดยสิ้นเชิง” นางสาววรวรรณ ครวนสัมผล หรือ โบว์  อายุ 17 ปี นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 จากโรงเรียนวังน้อย พนมยงค์วิทยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา คือ หนึ่งในนักเรียนจำนวนกว่า 1,400 คน ที่ได้มีส่วนร่วมในการเก็บเกี่ยวความรู้จากโครงการพัฒนาภาวะผู้นำสำหรับเด็กและเยาวชน

ภายใต้การสนับสนุนจากนิสสัน ร่วมกับองค์การแคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศญี่ปุ่น และมูลนิธิรักษ์ไทย โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ที่จะผลักดันและสานฝันของเยาวชนไทย ผ่านการเสริมสร้างทักษะวิชาชีพที่สอดแทรกความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการทำธุรกิจและการเป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้สามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ได้ในชีวิตจริง เช่นเดียวกับ โบว์ ที่หันมาใช้เวลาว่างหลังการเรียนเพื่อทุ่มเทให้กับการจัดสวนในขวดแก้ว

“ความฝันและความปรารถนาของเด็ก ๆ นั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าและละเอียดอ่อน การชี้นำแนวทางอย่างถูกต้องและการสนับสนุนอย่างเหมาะสมในช่วงของการเริ่มต้นนั้นทำให้นักเรียนอย่างโบว์ เปิดมุมมองและเห็นถึงทางเลือกในการศึกษาต่อรวมถึงเส้นทางประกอบอาชีพที่สนใจเพื่อเติมเต็มชีวิตในอนาคต” คุณตุ๊กตา สุธิรัตน์  คชสวัสดิ์ ผู้จัดการโครงการพัฒนาทักษะภาวะผู้นำสำหรับเด็กและเยาวชน ประจำมูลนิธิรักษ์ไทยกล่าว

โครงการนี้ริเริ่มขึ้นตั้งแต่พ.ศ. 2560 โดยมีเป้าหมายในการเสริมสร้างทักษะความเป็นผู้นำให้แก่เด็กและเยาวชน ควบคู่ไปกับหลักสูตรสะเต็มศึกษาที่มีการบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, กระบวนการทางวิศวกรรม และคณิตศาสตร์เข้าไว้ด้วยกัน  นอกจากนี้ น้อง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการยังได้เรียนรู้จากทีมงานมืออาชีพ อย่าง พนักงานของนิสสันจากหลากหลายฝ่ายที่ร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ตรงที่มีประโยชน์ อีกทั้งยังส่งเสริมให้ได้ลงมือปฏิบัติจริงผ่านโครงงานธุรกิจโดยเปิดกว้างตามความสนใจ

ด้วยความหลงใหลในงานประดิษฐ์สร้างสรรค์ที่นำเอาธรรมชาติเข้าใกล้ชีวิต โบว์ได้ใช้เวลาว่างทุ่มเทให้กับการจัดสวนในขวดแก้ว ที่แรกเริ่มอาจมองดูว่ายากและต้องใช้ความเอาใจใส่อย่างยิ่ง ทว่า กิจกรรมยามว่างที่ก่อให้เกิดรายได้นี้ ยังทำให้ โบว์ ได้ประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ตามหลักสูตรสะเต็มศึกษาจนกลายเป็นธุรกิจขนาดย่อมที่กำลังไปได้ด้วยดี

“หนูรู้สึกดีที่ได้นำความรู้มาใช้ปฏิบัติจริงกับโครงงานธุรกิจที่หนูมีความสุขที่ได้ทำ หนูได้ตระหนักถึงคุณค่าของการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้เข้ากับชีวิตประจำวัน โดยได้ลองทำ และก้าวมาถึงจุดที่ตั้งใจอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่ามีความสุข และภูมิใจในสิ่งที่หนูได้รับจากโครงงานธุรกิจนี้” โบว์กล่าวอย่างมีความสุข

ในช่วงเวลาสามวันของการเข้าค่ายนั้น โบว์ได้จับกลุ่มกับผู้เข้าร่วมโครงการคนอื่น ๆ เพื่อทำกิจกรรมกลุ่มที่มีความหลากหลาย การฝึกฝนในรูปแบบเช่นนี้จะช่วยให้เธอได้พัฒนาทักษะของการทำงานเป็นกลุ่มและการทำงานร่วมกัน รวมถึงการรับฟังและการเคารพความคิดเห็นที่แตกต่าง ตอนที่เธอเป็นผู้นำกลุ่มนั้น โบว์ได้รู้จักหัดสังเกตเพื่อน ๆ ภายในกลุ่ม และเรียนรู้ที่จะมอบหมายงานให้ตรงกับความถนัดของแต่ละคน ซึ่งสิ่งนี้ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่ทางโครงการได้ตั้งเอาไว้

คุณตุ๊กตายังเสริมว่า “ระหว่างการอบรมเชิงปฏิบัติการนั้น เราได้จำลองสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อที่จะดึงศักยภาพของความเป็นผู้นำของผู้เข้าร่วมโครงการออกมา ประสบการณ์ที่ได้รับจากชีวิตจริงนั้นถือเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับการพัฒนาความสามารถในการคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหา ประสบการณ์เหล่านี้ เมื่อนำมาผนึกรวมกับความรู้ในเรื่องของหลักการทำธุรกิจและการตลาดแล้ว จะเป็นการช่วยเปิดโลกทัศน์ของเด็ก ๆ ให้กว้างขวางขึ้น ทำให้เด็ก ๆ สามารถเลือกทางเดินชีวิตได้อย่างชาญฉลาดมากขึ้น และมีความรู้ที่มากยิ่งขึ้นกว่าเดิม”

โครงการนี้มีประโยชน์เป็นอย่างมากสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่าง โบว์ เพราะช่วงที่เธอประทับใจที่สุดของการเข้าค่ายในครั้งนี้เป็นช่วงของกิจกรรมสองชั่วโมงที่นำโดยพนักงานของนิสสันท่านหนึ่ง “เวิร์คช็อปในครั้งนั้นสอนให้หนูได้รู้จักวิธีการนำเสนอโครงงาน ทำให้หนูดูน่าเชื่อถือและมีความมั่นใจมากขึ้น” โบว์เล่าให้ฟังอย่างปลื้มปริ่ม “หนูรู้สึกดีใจมากที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของค่ายนี้ และขอขอบคุณนิสสันที่เนรมิตให้โครงการนี้ขึ้นมา โดยโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี เพราะแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญกับเยาวชน และสร้างสรรค์อนาคตที่สดใสสำหรับสังคมและประเทศของเรา”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องราวความสำเร็จของนักเรียนคนอื่น ๆ ที่น่าประทับใจไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของนางสาววิภาดา วงเวียน ผู้มีเป้าหมายที่จะนำประสบการณ์ที่ได้รับมาเป็นรากฐานในการทำธุรกิจแผ่นเกี๊ยว, เรื่องราวของนางสาวกิตติมา  แซ่เล้า และนางสาววรรณวิสา สิงหกุล สองนักเรียนที่ได้รับคำแนะนำจากผู้เข้าร่วมโครงการพัฒนาภาวะผู้นำสำหรับเด็กและเยาวชนรุ่นก่อนหน้า เพื่อให้การทำธุรกิจมีความหลากหลาย นับตั้งแต่การทำร้านขนมไปจนถึงการขายเสื้อผ้าบนช่องทางออนไลน์, เรื่องราวของนางสาวณัฐมน วนิกเกียรติ และนายกุลบดี พลีขันธ์ ผู้ก้าวข้ามขีดจำกัดและเอาชนะใจผู้คนด้วยขนมอบ, เรื่องราวของนางสาวอรอุมา ลาดบาศรี เอิร์น ผู้ที่กลายมาเป็นกระบอกเสียง บอกเล่าเรื่องราวของชีวิตที่เปลี่ยนไปที่เธอได้รับจากโครงการนี้ และเรื่องราวของนักเรียนคนอื่น ๆ อีกมากมาย

ระหว่างการดำเนินโครงการระยะที่ 1 ในช่วงพ.ศ. 2560-2563 ที่ผ่านมา โครงการนี้ ได้ขับเคลื่อนความสำเร็จให้กับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการในวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เพียงแค่ทำให้พวกเขามีผลการเรียนที่ดีขึ้น แต่ยังช่วยสร้างความมั่นใจและเสริมสร้างความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รวมถึงความสามารถในการแก้ไขปัญหาอีกด้วย นิสสันคาดว่า ความรู้และทักษะที่นักเรียนได้รับผ่านโครงการนี้จะยังช่วยเป็นแนวทางที่ทำให้พวกเขาก้าวไปสู่อนาคตที่สดใส และมีความสุขมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับโครงการพัฒนาภาวะผู้นำสำหรับเด็กและเยาวชน

  • กลุ่มเป้าหมายหลักของโครงการฯ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 จากโรงเรียนขยายโอกาสจำนวน 16 แห่ง ใน จังหวัดสมุทรปราการ, พระนครศรีอยุธยา และระยอง
  • กิจกรรมของโครงการฯ ประกอบด้วย การอบรมเชิงปฏิบัติการเสริมสร้างทักษะที่สนุกสนานและสร้างปฏิสัมพันธ์ เพื่อดึงศักยภาพของความเป็นผู้นำและการทำงานเป็นกลุ่มออกมา ควบคู่ไปกับการส่งเสริมการใช้ทักษะเชิงสร้างสรรค์ ทักษะของการวิเคราะห์ และทักษะของผู้ประกอบการที่มีอยู่ในตัวของนักเรียน ซึ่งถือเป็นศักยภาพที่สำคัญในการทำธุรกิจให้สำเร็จ
  • โครงการพัฒนาภาวะผู้นำสำหรับเด็กและเยาวชน ครอบคลุมนักเรียนจำนวนกว่า 1,400 คน สำหรับการดำเนินในระยะแรกที่ผ่านมา

พนักงานของนิสสันมีบทบาทสำคัญในโครงการพัฒนาภาวะผู้นำสำหรับเด็กและเยาวชน โดยมีส่วนร่วมในการแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญ และสร้างแรงบันดาลใจให้แก่น้อง ๆ เพื่อช่วยปูทางสู่ความสำเร็จทั้งด้านการศึกษา หรือการประกอบวิชาชีพธุรกิจ