มิวเซียมสยามเปิดเทคโนโลยีใหม่เพื่อคนพิการ

มิวเซียมสยามเปิดบ้านพาชมนิทรรศการถอดรหัสไทยพร้อมโชว์เทคโนโลยี ที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของทุกช่วงวัย ใช้สื่อการเรียนรู้ ที่จับต้องได้ พร้อมนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้เสริมเนื้อหานิทรรศการเพื่อให้การเล่าเรื่องสนุกมากยิ่งขึ้น พร้อมขยายโอกาสการเรียนรู้สำหรับผู้พิการสายตาและด้านร่างกาย

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าว่า   มิวเซียมสยาม เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดตั้งขึ้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้แนวใหม่ ภายใต้แนวคิด “พิพิธภัณฑ์การเรียนรู้” (Discovery Museum) ดิสคัฟเวอรี่ มิวเซียม เป็นต้นแบบให้แก่พิพิธภัณฑ์ทั่วประเทศ โดยการนำเสนอด้วยกระบวนการและวิธีการเรียนรู้แบบใหม่ๆ เพื่อเปิดมิติการชมพิพิธภัณฑ์ให้กับคนไทยตามแนวคิด “Play (เพลย์) + Learn (เลิร์น) = Plearn (เพลิน)” ที่ปลุกกระแสให้คน หันมาเที่ยวพิพิธภัณฑ์มากขึ้น

โดยทั้งนี้มีความตั้งใจที่จะใช้ศักยภาพทั้งในเชิงความรู้ และเชิงพื้นที่ที่มีมาร่วมผลักดันให้เกิดมิติใหม่ของการเรียนรู้และการท่องเที่ยวพิพิธภัณฑ์ รวมถึงสถานที่ทางวัฒนธรรมของประเทศไทย ด้วยการพัฒนามิวเซียมสยามให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงแหล่งเรียนรู้และวัฒนธรรมแห่งเกาะรัตนโกสินทร์ ที่จะเปิดประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติด้วยการมาของรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชยที่อยู่ใจกลางพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์

มิวเซียมสยามจะเป็นที่แรกของพิพิธภัณฑ์ที่พร้อมรองรับผู้พิการทางสายตาที่จะได้รับชมนิทรรศการไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป เรามีบริการมาตรฐาน ได้แก่ทางเดินสำหรับผู้พิการทางสายตาที่จะมีการติดตั้งอยู่ทั้ง14 ห้องการจัดแสดงนิทรรศการ และรถเข็นสำหรับผู้ที่ต้องการใช้บริการ ทั้งนี้มีการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่นำชมที่ได้รับการอบรมการนำชมสำหรับผู้พิการทางสายตาคอยให้บริการบรรยายนิทรรศการอย่างละเอียด

นอกจากนี้ยังมีโมเดลจำลองที่จัดทำขึ้นเฉพาะการเรียนรู้สำหรับผู้พิการทางสายตาเพื่อให้เข้าใจเนื้อหานิทรรศการยิ่งขึ้นอาทิเช่น โมเดลศิลาจารึก เสื้อลูกไม้แขนหมูแฮม (ห้องไทยแปลไทย) โมเดลเขาพระสุเมรุ (ห้องไทยอลังการ) โมเดลนางกวัก (ห้องไทย ONLY โอนลี) โมเดลเรือสุพรรณ (ห้องไทย อินเตอร์) เกมส์กินเจ เกมส์สงกรานต์ (ห้องไทยประเพณี) และจัดทำอักษรเบรลล์ขยายความรู้เนื้อหา ตำราเรียน4ยุค สำหรับห้องนิทรรศการไทยวิทยา , และยังมีความรู้เกี่ยวกับเนื้อหานิทรรศการทั้ง14 ห้องโดยทำเป็นอักษรเบรลล์ที่สั่งผลิตขึ้นด้วยพลาสติกง่ายต่อการใช้งานและเตรียมพร้อมให้บริการที่จุดจำหน่ายบัตร ในอนาคตจะมีการผลิต Audio Guide (ออดิโอ ไกด์) ที่เสียงบรรยายเฉพาะสำหรับผู้พิการทางสายตาอีกด้วย

และเรายังไม่หยุดนิ่งในการที่จะพัฒนาพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ประชาชนและนักท่องเที่ยว นิทรรศการชุดถอดรหัสไทยก็เป็นอีกส่วนที่เราพัฒนาโดยใช้สื่อทุกที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนคนรุ่นใหม่

ซึ่งภายในห้องนิทรรศการ  ทั้ง 14 ห้อง แต่ละห้องนั้นจะมี Gimmick (กิมมิค) หรือลูกเล่นการให้ความรู้ ความสนุกที่แตกต่างกัน มีทั้งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อสร้างสีสันการเข้าชมนิทรรศการ อาทิเช่น เทคโนโลยีระบบ AR (Augmented Reality) เออาร์ (ออกเมนเทด เรียลลิตี้) ได้แก่ ห้องไทยวิทยา ,ห้องไทยแชะ , ห้องไทยเชื่อ ,ห้องไทยอินเตอร์ ,ห้องไทยชิม, ห้องไทยอลังการ,ห้องไทยแค่ไหน, ห้องไทย ONLY โอนลี),ห้องไทยประเพณี ,ห้องไทยดีโคตร ห้องไทยสถาบัน  ห้องไทยแปลไทย ส่วนห้องไทยตั้งแต่เกิด นำเสนอด้วยระบบโมดูลไฮโดรลิค ระบบ VR (Virtual Reality การจำลองสภาพแวดล้อมจริงเข้าไปให้เสมือนจริง โดยผ่านการรับรู้จากการมองเห็น เสียง โดยสวมแว่นตาและมีรีโมทเมาส์ควบคุมที่จะให้ผู้เล่นได้ไปทัวร์ห้องนิทรรศการ14ห้องกันอย่างสนุกสนาน หรือบางห้องก็ใช้  manual Technic  แมนวล เทคนิค ในแบบมิวเซียมสยามมาช่วยเล่าเรื่องให้เนื้อหานิทรรศการสนุกและน่าเรียนรู้ไม่แพ้กัน

นอกจากระบบ AR (เออาร์) แล้ว  ยังมีระบบ QR Code (คิว อาร์ โคด) ที่ติดไว้ให้ทุกห้อง และทุกจุดของตัววัตถุจัดแสดงเพื่อสะดวกต่อการหาข้อมูลที่รวดเร็ว รวมถึงการบริการ Audio Guide (ออดิโอ ไกด์) โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่รองรับถึง 6 ภาษา ประกอบด้วย ภาษาไทย อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส จีน และญี่ปุ่น

โดยหวังว่าพันธกิจต่างๆ เหล่านี้จะส่งเสริมการเรียนรู้ของของเยาวชนคนรุ่นใหม่และการขยายโอกาสการเรียนรู้สำหรับผู้พิการสายตาและด้านร่างกาย ก็เพื่อเป็นรากฐาน ในการพัฒนาขับเคลื่อนศักยภาพต้นทุนมนุษย์ของชาติสืบต่อไป

เรียกว่า มิวเซียมสยามได้นำเทคโนโลยี ที่หลากหลายเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของทุกช่วงวัย อาทิสื่อการเรียนรู้ ที่อาศัยการจับต้อง และมีปฎิสัมพันธ์กับผู้ชม และการนำ Technology (เทคโนโลยี) ที่ทันสมัยมาใช้เสริมเนื้อหานิทรรศการเพื่อให้การเล่าเรื่องสนุกมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น  QR Code (คิวอาร์ โคด), AR (Augmented Reality) เออาร์ (ออกเมนเทด เรียลลิตี้) และ VR (Virtual Reality) วีอาร์ (เวอชวล เรียลลิตี้) ผู้เข้าชมจะได้สัมผัสกับประสบการณ์ใหม่ๆ  ทั้งมิวเซียมสยามยังเตรียมพร้อมเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อขยายโอกาสการเรียนรู้สำหรับผู้พิการสายตาและด้านร่างกาย ทั้งในส่วนของพื้นที่และสื่อการเรียนรู้ มิวเซียมสยามพร้อมแล้วที่จะขับเคลื่อนการเรียนรู้และงานบริการเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวและประชาชนที่ใช้บริการของรถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสนามไชยในทุกๆ ด้าน

สำหรับการเดินทางมายังมิวเซียมสยาม สามารถมาได้ทั้งรถยนต์ส่วนตัว รถสาธารณะ หรือ เรือโดยสาร  และด้วยการเปิดให้บริการของรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน ยิ่งทำให้การเดินทางมามิวเซียมสยาม เป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น เพียงขึ้นที่สถานีสนามไชย ก็เดินเข้ามิวเซียมสยามได้เลย โดยเปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น.ทุกวันอังคาร–วันอาทิตย์ (หยุดให้บริการทุกวันจันทร์) ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.museumsiam.org หรือสอบข้อมูลโทร.02-225-2777 ต่อ 431, 432