มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จับมือ กฟผ. นำร่องโครงการโรงไฟฟ้าเสมือน

เตรียมต่อยอดสู่ภาคประชาชน 
มร. อาราตะ ทาคาฮาชิ (ขวา) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานกลยุทธ์การตลาด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด และนางรังสินี ประกิจ (ซ้าย) ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จับมือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สนับสนุนโครงการทดสอบนวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant หรือ VPP) ภายใต้โครงการอีอาร์ซี แซนด์บ็อกซ์ เฟส 2 (ERC Sandbox Phase 2) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์กรครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้รถยนต์ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ในการจ่ายพลังงานไฟฟ้าจากตัวรถกลับสู่โครงข่ายระบบไฟฟ้า (Vehicle-to-Grid หรือ V2G) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้าของไทย

มร. อาราตะ ทาคาฮาชิ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายงานกลยุทธ์การตลาด บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า “มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับ กฟผ. ในการผลักดันโร้ดแมปสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ โดยเดินหน้าพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนเพื่อสังคมไทยอย่างต่อเนื่อง หนึ่งในรถยนต์ที่มีเทคโนโลยีสุดล้ำสมัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในปัจจุบันอย่าง มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี เป็นรถยนต์ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมโรงไฟฟ้าเสมือน เนื่องจากรถรุ่นนี้มีเทคโนโลยีระบบหัวชาร์จ CHAdeMo ซึ่งปัจจุบันเป็นระบบเดียวที่สามารถอัดประจุและคายประจุไฟฟ้าได้สองทิศทางจึงสามารถเป็นแหล่งพลังงานสำรอง พร้อมกับจ่ายไฟออกจากแบตเตอรี่สู่ระบบโครงข่ายไฟฟ้า (V2G) หรืออาคาร (V2B) ได้

ด้าน นางรังสินี ประกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ. กล่าวว่า “การส่งเสริมระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของ กฟผ. เพื่อให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศมากขึ้น และสนับสนุนเป้าหมายคาร์บอนสมดุล (Carbon Neutrality) ของประเทศในปี 2050 ดังนั้น กฟผ. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ จึงเตรียมความพร้อมของระบบไฟฟ้าเพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต นำร่องศึกษาการควบคุมระบบการจ่ายไฟจากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าเข้าสู่ระบบไฟฟ้า (V2G) และ โรงไฟฟ้าเสมือน (VPP) ภายใต้โครงการ ERC Sandbox Phase 2 เพื่อเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้าของประเทศ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด กฟผ. จึงร่วมกับ บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ศึกษาและทดสอบการจ่ายพลังงานไฟฟ้าย้อนกลับเข้าสู่อาคาร (V2B) ณ สถาบันการศึกษาและฝึกอบรม  มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้ในการจัดทำข้อกำหนดและระเบียบปฏิบัติให้สอดรับกับแนวทางการใช้พลังงานรูปแบบใหม่ในอนาคตและเตรียมขยายผลสำหรับการใช้งานระบบดังกล่าวในเชิงพาณิชย์ต่อไป”

โครงการโรงไฟฟ้าเสมือนมีเป้าหมายพลิกโฉมประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนเป็นศูนย์ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของ มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย โดยทั้ง มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย และ กฟผ. มีความมั่นใจว่าเทคโนโลยีนี้คือหนึ่งในทางออกที่จะช่วยเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคตเมื่อความต้องการการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภายใต้ความร่วมมือกับ กฟผ. มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ได้ทำการปรับเปลี่ยนสถาบันการศึกษาและฝึกอบรม มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ให้เป็นห้องทดลองโครงการโรงไฟฟ้าเสมือน โดยติดตั้งเครื่องอัดประจุและคายประจุไฟฟ้าในรถยนต์สำหรับบ้านเครื่องแรกของโลก รุ่นควอซาร์ (Quasar) จากแบรนด์วอลบ็อกซ์ (Wallbox) ซึ่งเป็นผู้นำด้านเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและระบบบริหารจัดการพลังงาน เพื่อให้ กฟผ. ดำเนินการทดสอบด้วยการควบคุมระยะไกล และสั่งการชาร์จไฟสองทิศทางให้กับรถยนต์ มิตซูบิชิ เอาท์แลนเดอร์ พีเอชอีวี ภายใต้สถานการณ์จำลองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ช่วงเวลาที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้น การร่วมมือครั้งนี้จะส่งผลให้ประเทศไทยเดินหน้าสู่ความมั่นคงทางพลังงานไฟฟ้า โดยลดกิจกรรมที่สร้างก๊าซเรือนกระจกด้วยการใช้พลังงานไฟฟ้าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นด้านพลังงานทดแทน มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ยังได้ทำการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่โรงงานแหลมฉบัง สร้างกระแสไฟฟ้ารวม 2 เมกะวัตต์ ช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 6,100 ตัน และที่สถาบันการศึกษาและฝึกอบรมมิตซูบิชิ มอเตอร์ส ประเทศไทย ซึ่งสร้างกระแสไฟฟ้าได้ 30 กิโลวัตต์ นอกจากนี้บริษัทฯ ยังได้ดำเนินโครงการเพื่อสังคม Solar for Lives: พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อชีวิตที่ดีกว่า” โดยเข้าไปติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ให้แก่โรงพยาบาลชุมชนต่าง ๆ รวม 40 แห่งทั่วประเทศ ภายในปี 2575 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ของโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการได้ถึงกว่า 17,300 ตัน ในระยะเวลา 10 ปี