“ลมหายใจไร้มลทิน” จัดอบรม “ครูปฐมวัย” หวังปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตให้เด็กเล็ก

มูลนิธิ “ลมหายใจไร้มลทิน” จัดอบรมครูปฐมวัย จากโรงเรียนภาครัฐ ภาคเอกชน และศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก กว่า 80 คน แนะนำเทคนิคการสอนเพื่อถ่ายทอดค่านิยมความซื่อสัตย์สุจริต ตามแนวคิด “เล่า ร้อง เต้น เล่น” บริหารสมอง เพื่อลมหายใจไร้มลทิน

ชไมพร ปภัสร์พงษ์ ผู้อำนวยการ มูลนิธิลมหายใจไร้มลทิน เผยว่า มูลนิธิฯ ได้จัดกิจกรรมรณรงค์ปลูกฝังค่านิยมแห่งความซื่อสัตย์สุจริตให้เด็ก

และเยาวชนมาตลอด 11 ปี เช่น กิจกรรมเคลื่อนที่สู่โรงเรียน กิจกรรมค่ายเยาวชน “ลมหายใจไร้มลทิน” การประกวดกิจกรรมเสริมสร้างค่านิยมแห่งความซื่อสัตย์สุจริต ฯลฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมสำหรับเด็ก และเยาวชน ระดับประถมศึกษาถึงระดับอุดมศึกษา มีเพียงกิจกรรมการประกวดวาดภาพสะท้อนความซื่อสัตย์สุจริตเท่านั้น ที่เด็กระดับปฐมวัยได้มีโอกาสเข้าร่วม ดังนั้น จึงได้เริ่มกิจกรรมอบรมครูปฐมวัยขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2560 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปลูกฝังค่านิยมแห่งความซื่อสัตย์สุจริตให้แก่เด็กระดับปฐมวัย ซึ่งประสบความสำเร็จมาก

ปีนี้ มูลนิธิฯ จึงจัดกิจกรรมขึ้นเป็นครั้งที่ 2 ภายใต้แนวคิด “เล่า ร้อง เต้น เล่น” บริหารสมอง เพื่อลมหายใจไร้มลทิน โดยมีครูจากโรงเรียนภาครัฐ ภาคเอกชน ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนกรุงเทพมหานคร ร่วมกิจกรรมกว่า 80 คน ณ ห้องประชุม โรงเรียนวัดธาตุทอง (เรือนเขียวสะอาด) กรุงเทพมหานคร

หลักสูตรการอบรมครั้งนี้ พัฒนาจากการติดตามผลกิจกรรมครั้งก่อน โดยมีแม่ชี ดร.ภญ.พัชราภรณ์ ปัญญาวุฒิไกร นักวิชาการจากสมาคมนักวิจัยไทยเพื่อพัฒนาเด็ก และครอบครัว ให้ความอนุเคราะห์เชิงวิชาการสำหรับใช้เป็นแนวทางการจัดอบรม

กิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การอบรมเชิงปฏิบัติการ โดย ภัทรจารีย์ นักสร้างสรรค์ “น้านิต ผึ้งน้อย” และคณะ ผ่านเพลงประกอบท่าเต้น “ดวงดาวแห่งความซื่อสัตย์” นิทาน Audio Book ประกอบเสียงเล่าเรื่อง “เด็กชายผู้หลงทาง” และ “นางฟ้าซื่อสัตย์กับแม่มดคดโกง”

นอกจากนั้น ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิมาร่วมให้ความรู้เพื่อส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริต ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กิตติชัย สุธาสิโนบล บรรยายเรื่อง “สร้างแรงบันดาลใจในครูอนุบาลเราทำได้”

และ ศึกษานิเทศก์ โสรัจจะ มีทรัพย์มั่น บรรยายเรื่อง “บูรณาการส่งเสริมทักษะทางสมองกับคุณธรรม” เป็นต้น

สถานศึกษาที่สนใจรายละเอียดการอบรมดังกล่าว สามารถสอบถามได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2641-8444 ต่อ 215 หรือ www.lomhaijai.org และ www.facebook.com/LomhaijaiFoundation