นักศึกษานำเสนอต้นแบบผลิตภัณฑ์จากสิ่งของเหลือใช้ให้กับผู้นำชุมชน ภายใต้โครงการนิสสัน “แค่ใจก็เพียงพอ”
เพื่อ ลดของเสีย สร้างงาน และสร้างรายได้ที่ยั่งยืน ให้แก่ชุมชนปากน้ำปราณ
ผู้นำชุมชนจากปากน้ำปราณร่วมแนวคิดในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์จากสิ่งของเหลือใช้จากนักศึกษาจำนวน 70 คนจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังที่อย่างชื่นชม ภายใต้โครงการนิสสัน ‘แค่ใจก็เพียงพอ’
โครงการ ‘แค่ใจก็เพียงพอ’ เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2560 และมีการสานต่อโครงการปีที่สองในปีนี้ ซึ่งมีความแตกต่างไปจากปีแรก โดยได้ริเริ่มการนำคนรุ่นใหม่ คือ กลุ่มนักศึกษาด้านการออกแบบ โดยแบ่งออกเป็นหกกลุ่มย่อย เพื่อทำการออกแบบและสอนขั้นตอนการทำผลิตภัณฑ์จากของเหลือใช้ในท้องถิ่นให้แก่คนในชุมชน เพื่อนำไปจำหน่าย ภายใต้เป้าหมายของโครงการในด้าน การลดของเสีย การสร้างงาน และการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ชุมชน และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นิสสัน จึงร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับอาจารย์ จารุพัชร อาชวะสมิต อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
สำหรับ ตัวอย่างของการสร้างสรรค์ต้นแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น โคมไฟประดับที่ทำจากอวนจับปลาเหลือทิ้ง กระเป๋าที่ถักจากกะลามะพร้าว เชือก และรองเท้าแตะที่ทำจากพลาสติกที่รีไซเคิลจากขวด อีกทั้งยังมีการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ เป็น เครื่องประดับ และอุปกรณ์ใช้งานอื่น ๆ อีกมากมาย
ในส่วนของนักศึกษาได้ทำการออกแบบผลิตภัณฑ์โดยได้รับแรงบันดาลใจจากสิ่งของเหลือใช้ที่ได้พบและรวบรวมระหว่างการลงพื้นที่ปากน้ำปราณที่ผ่านมา รวมถึงการได้พบปะและพูดคุยกับสมาชิกของชุมชนระหว่างการลงพื้นที่ในกิจกรรมที่ผ่านมา
“ผมภูมิใจที่ได้เห็นการเสียสละเวลา ความพยายาม และความคิดสร้างสรรค์ของนักศึกษา ไม่น่าเชื่อว่าแต่ละคนสามารถออกแบบต้นแบบผลิตภัณฑ์เหล่านี้จากของเหลือใช้ที่พวกเขารวบรวมร่วมกับสมาชิกของชุมชน ในโครงการฯ พวกเขาทำงานอย่างกระตือรือร้นและไม่ย่อท้อจริงๆ” ปีเตอร์ แกลลี รองประธาน สายงานสื่อสารองค์กร นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย กล่าว “หลังจากนำเสนอต้นแบบผลิตภัณฑ์ นักศึกษาและผู้นำชุมชนได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์และเจาะลึกเพื่อเลือกว่าผลิตภัณฑ์ชิ้นไหนที่ควรพัฒนาต่อไป ผมตื่นเต้นมากที่จะได้เห็นผลิตภัณฑ์ที่เสร็จสมบูรณ์ สามารถเปลี่ยนของเหลือใช้ให้กลายเป็นสินค้าที่ขายได้”
อาจารย์ จารุพัชร ได้กล่าวเสริมว่า รู้สึกยินดีและตื่นเต้นที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการนี้ ซึ่งทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์จริงที่ไม่สามารถเรียนรู้ได้จากในห้องเรียน “ในกิจกรรมนี้ นักศึกษามีโอกาสค้นคว้าเกี่ยวกับของเหลือใช้และกำหนดว่าจะออกแบบของเหล่านี้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่สวยงามและมีคุณค่า (upcycle) ได้อย่างไร นักศึกษามีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ที่พวกเขาได้เรียนรู้วิธีการออกแบบและผลิตสินค้าที่สามารถทำการตลาดได้ โดยชุมชนท้องถิ่นสามารถนำไปผลิตและจำหน่ายได้เอง สิ่งเหล่านี้เป็นทักษะการปฏิบัติที่สำคัญ เราหวังว่านักศึกษาจะนำไปใช้กับชีวิตการทำงานของพวกเขาในอนาคต มากไปกว่านั้นคือการช่วยพัฒนาชุมชนได้อย่างยั่งยืน” อาจารย์ จารุพัชร กล่าวเสริม
สมเดช นาคดี ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชายเลนและสิ่งแวดล้อมบ้านคลองเก่า (ทสม.) แสดงความเห็นด้วยว่า “ผมรวบรวมและขายของเหลือใช้มานานกว่า 18 ปี ต้องขอขอบคุณโครงการนี้ของนิสสันที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจและขอบคุณกลุ่มนักศึกษาที่ยอดเยี่ยมนี้ ผมได้เรียนรู้จากพวกเขามากขึ้น” สมเดช กล่าว “ตอนนี้ผมรู้วิธีการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้มีดีไซน์ที่สวยงาม ซึ่งเราพร้อมที่จะทดลองและพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ด้วยตัวของเราเอง”