ฟอร์ดเปลี่ยนขวดพลาสติก กว่า 1,200 ล้านขวด เป็นแผ่นปิดใต้ท้องรถ จากขยะสู่ส่วนประกอบรถยนต์
เมื่อคุณรีไซเคิลขวดพลาสติก เคยหยุดคิดบ้างหรือไม่ว่าพลาสติกเหล่านั้นกลายเป็นอะไรต่อ คำตอบหนึ่ง คือ รถฟอร์ด
ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี สนับสนุนการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และวิธีหนึ่งที่ฟอร์ดกำลังทำอยู่ คือการแปรสภาพขวดพลาสติกเป็นแผ่นปิดใต้ท้องรถของรถยนต์และรถอเนกประสงค์ทุกคัน รวมถึงขอบล้อของรถกระบะรุ่น F-Series
“แผ่นปิดใต้ท้องรถถือเป็นชิ้นส่วนขนาดใหญ่ สำหรับชิ้นส่วนที่มีขนาดนั้น ถ้าเราใช้พลาสติกแข็ง ก็จะมีน้ำหนักมากขึ้นถึง 3 เท่า” โทมัส สวีเดอร์ วิศวกรนักออกแบบ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี กล่าว “เรามองหาวัสดุที่ทนทานและมีสมรรถนะสูงที่สุดเพื่อนำมาผลิตชิ้นส่วนอะไหล่ของเรา สิ่งที่เราทำอยู่นี้ ยังช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย”
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2549 ฟอร์ดเป็นผู้ผลิตรถยนต์เจ้าแรกที่นำพลาสติกรีไซเคิลมาใช้ผลิตขอบล้อของรถรุ่น เฟียสต้า สำหรับตลาดยุโรป ตลอด 12 ปีที่ผ่านมา อากาศพลศาสตร์ หรือแอโรไดนามิคส์ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มีความต้องการแผ่นปิดใต้ท้องรถ การใช้พลาสติกในชิ้นส่วนดังกล่าวก็เพิ่มมากขึ้นทั่วโลกอย่างก้าวกระโดด ฟอร์ดใช้ขวดพลาสติกรีไซเคิลกว่า 1,200 ล้านขวดต่อปี หรือ 250 ขวดต่อคันโดยเฉลี่ย ในการผลิตส่วนประกอบรถยนต์
ขั้นตอนการผลิตนั้น เริ่มจากขวดพลาสติกในถังขยะรีไซเคิลที่ถูกเก็บมาหลายพันขวดและย่อยให้เป็นชิ้นเล็กๆ โดยทั่วไป เศษพลาสติกจากขั้นตอนนี้จะนำไปขายให้กับบริษัทที่แปรรูปพลาสติกให้เป็นไฟเบอร์ ด้วยการละลายและกรองออกมา ไฟเบอร์ที่ได้จะนำมาผสมกับไฟเบอร์ชนิดอื่นๆ ในขั้นตอนกระบวนการผลิตเส้นใยและนำมาทำเป็นแผ่นวัสดุ ก่อนจะนำไปผลิตเป็นส่วนประกอบรถยนต์อีกที
ด้วยน้ำหนักที่เบา ทำให้พลาสติกรีไซเคิลกลายเป็นวัสดุที่เป็นที่ต้องการสำหรับผลิตแผ่นปิดใต้ท้องรถและขอบล้อหน้าและหลัง ซึ่งจะช่วยเพิ่มสมรรถนะของตัวรถเชิงอากาศพลศาสตร์ แผ่นปิดใต้ท้องรถนี้ยังช่วยให้ลดเสียงรบกวนให้กับรถฟอร์ด เอสเคป โฉมใหม่ รุ่นปี 2020 อีกด้วย
ในเชิงสิ่งแวดล้อม การใช้พลาสติกรีไซเคิลในการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ช่วยลดจำนวนพลาสติกที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อธรรมชาติ เช่น กองขยะพลาสติกมหึมาในมหาสมุทรแปซิฟิก ที่อาจมีขนาดใหญ่กว่าประเทศเม็กซิโกเสียอีก
“ฟอร์ดเป็นหนึ่งในผู้นำในการใช้วัสดุรีไซเคิล นอกจากก่อให้เกิดประโยชน์ในทางเทคนิคและความคุ้มค่า ทั้งยังเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อม วัสดุชนิดนี้ยังถือว่าผ่านมาตรฐานอันเข้มงวดของเรา ในเรื่องของทั้งความทนทาน และประสิทธิภาพอีกด้วย” สวีเดอร์ กล่าว