ฟอร์ดร่วมกับกลุ่มพันธมิตรส่งมอบสนามเด็กเล่นให้ชุมชนนางเลิ้ง

เป็นชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม หรือ FREC กรุงเทพฯ

ฟอร์ด ประเทศไทย ร่วมกับกลุ่มพันธมิตร หน่วยราชการ และผู้นำชุมชน ส่งมอบสนามเด็กเล่นแห่งใหม่ให้กับชุมชนนางเลิ้ง ชุมชนเก่าแก่ของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม หรือ FREC กรุงเทพฯ โดยฟอร์ดได้นำพนักงานจิตอาสาจาก โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) จังหวัดระยอง ร่วมกับนิสิตหลักสูตรการออกแบบสถาปัตยกรรมนานาชาติ หรือ INDA คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รังสรรค์วัสดุเหลือใช้จากโรงงาน เป็นสนามเด็กเล่นบนพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่นี้

“สนามเด็กเล่นแห่งนี้ เป็นหนึ่งในกิจกรรมสร้างสรรค์สิ่งดีๆ คืนสู่สังคม ซึ่งฟอร์ดภาคภูมิใจอย่างยิ่งที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสำคัญที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือหลายฝ่าย เพื่อสร้างพื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ให้กับชุมชนนางเลิ้งซึ่งอยู่ใกล้กับศูนย์ FREC ของเรา ฟอร์ดยินดีที่ได้นำวัสดุจากโรงงานเอฟทีเอ็มมาสร้างคุณค่า เปลี่ยนของเหลือใช้มาเป็นโครงสร้างของเครื่องเล่นให้กับเด็กๆ ในชุมชน” มร. สก็อต ฉาง ผู้จัดการกองทุน ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ตลาดเอเชีย แฟซิฟิก กล่าว

สนามเด็กเล่นแห่งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการภาคฤดูร้อนของนิสิตหลักสูตร INDA คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งนิสิตและอาจารย์ได้ร่วมกันออกแบบภูมิทัศน์ของพื้นที่สาธารณะ รวมถึงสนามเด็กเล่น โดยเน้นการทำงานร่วมกับหน่วยราชการและคนในท้องที่และให้ความสำคัญกับกระบวนการออกแบบก่อสร้างที่คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้ หน่วยงานพันธมิตรในโครงการได้จัดพิธีส่งมอบพื้นที่สาธารณะและสนามเด็กเล่นแห่งใหม่ให้แก่ชุมชนนางเลิ้ง โดยมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์, กรุงเทพมหานคร, ฟอร์ด, และ เออเบิน สตั้ดดี้ส์ แล็บ หรือ USL คณะทำงานวิจัยด้านชุมชนซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อมร่วมเป็นสักขีพยาน

พื้นที่สาธารณะแห่งใหม่ของชุมชนนางเลิ้งได้รับการแปรสภาพจากพื้นที่ว่างเปล่า เป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของคนในชุมชนอันประกอบไปด้วยพื้นที่สีเขียว เก้าอี้สำหรับพักผ่อน และสนามเด็กเล่นซึ่งทำจากวัสดุเหลือใช้จากโรงงานเอฟทีเอ็ม โดยนิสิตและอาจารย์หลักสูตรการออกแบบสถาปัตยกรรมนานาชาติได้เริ่มทำงานกับผู้บริหารและวิศวกรของฟอร์ด เพื่อเลือกวัสดุที่เหมาะสมจากโรงงาน อาทิ แท่งเหล็ก ไม้พาเลท เพื่อดำเนินการออกแบบโครงสร้างของสนามเด็กเล่นโดยมีทีมวิศวกรจากโรงงานเอฟทีเอ็มแสดงพลังจิตอาสาช่วยดำเนินการนำวัสดุมาเชื่อมประกอบเป็นโครงสร้างของสนามเด็กเล่น

การนำวัสดุเหลือใช้จากโรงงานมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบสนองเจตนารมณ์หลักของฟอร์ดในการอนุรักษ์และปรับปรุงสภาพสิ่งแวดล้อม และการมุ่งเดินหน้าเปลี่ยนวิถีการขับเคลื่อนสังคมอย่างสร้างสรรค์ ด้วยการทำกิจกรรมที่คืนสิ่งดีๆ สู่สังคมโดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนเป็นสำคัญ เพื่อให้คนในท้องที่มีส่วนร่วมในการสร้างความแข็งแกร่งให้กับชุมชนอย่างยั่งยืนและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น