ฟอร์ดสานต่อโครงการ “เปลี่ยนความรู้…สู่อาชีพ” รุ่นที่ 5

มอบทุนผลักดันศักยภาพนักเรียนไทย สู่ความก้าวหน้าในสายอาชีพ

ฟอร์ดลงนามความร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ สานต่อโครงการ “เปลี่ยนความรู้…สู่อาชีพ” ประจำปี 2565 มอบทุนการศึกษาและฝึกอบรม จำนวน 24 ทุน รวม 1,500,000 บาทสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านเทคนิคสายงานช่างเมคคาทรอนิกส์ และช่างยนต์ ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมและพัฒนาฝีมือช่างที่ฟอร์ดออกแบบร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ โดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้สัมผัสประสบการณ์เรียนรู้ ทั้งภาคทฤษฎีในห้องเรียน และภาคปฏิบัติที่โรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) และศูนย์บริการฟอร์ด ที่จังหวัดชลบุรี และจังหวัดระยอง เป็นเวลา 2 ปี

“โครงการ “เปลี่ยนความรู้…สู่อาชีพ” เป็นหนึ่งในความมุ่งมั่นของฟอร์ด ที่จะปฏิวัติการทำงานและพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่มีความสำคัญต่อลูกค้า ด้วยการมอบประสบการณ์การเป็นเจ้าของรถยนต์ฟอร์ดที่ดีเยี่ยมด้วยการนำเสนอนวัตกรรมการบริการอย่างต่อเนื่อง เพื่อดูแลและมอบความสะดวกสบายให้กับลูกค้าฟอร์ดเสมือนคนในครอบครัว โดยในปีนี้มีผู้ได้รับทุนโครงการ “เปลี่ยนความรู้…สู่อาชีพ” ในสายงานช่างเมคคาทรอนิกส์จากโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) 3 คน และจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบอีก 5 คน  และมีนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เข้าร่วมโครงการในสายงานช่างยนต์อีก 5 คน  และยังมีนักศึกษาที่ได้รับทุนต่อเนื่องจากปีที่แล้วในทั้งสองสาขาอีก 11 คน

“เรามอบทุนการศึกษาอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่ปี 2560 และยินดีเป็นอย่างมากที่นักศึกษาที่เรียนจบจากโครงการนี้ ได้รับการบรรจุให้เป็นพนักงานประจำของฟอร์ด ในขณะเดียวกันพนักงานของเราที่ได้รับทุนให้มาศึกษาเพิ่มเติมก็มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น เมื่อพวกเขาเรียนจบและกลับมาทำงานที่โรงงานของเรา แน่นอนว่าเราพร้อมที่จะผลักดันให้พวกเขาก้าวหน้าต่อไปในสายงานที่พวกเขาถนัด และมีความสุขกับการทำงาน” มร. วินโค้ ซาริค ผู้จัดการโรงงานฟอร์ด ไทยแลนด์ แมนูแฟคเจอริ่ง (เอฟทีเอ็ม) กล่าว

นายสุพศิน  อันโน พนักงานฟอร์ดผู้ได้รับทุนการศึกษาในสายงานช่างเมคคาทรอนิกส์เล่าว่า รู้สึกดีใจที่บริษัทเล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาความรู้ความสามารถของพนักงานอย่างจริงจัง ตนสนใจเรียนต่อในระดับ ปวส. เนื่องจากฟอร์ดมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตให้ทันสมัยอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีการลงทุนติดตั้งเครื่องจักรใหม่ในหลายพื้นที่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา จึงคิดว่าการศึกษาเพิ่มเติมจะเป็นการสร้างโอกาสให้ตนก้าวหน้าในสายงานต่อไปได้ โดยในระหว่างที่ตนต้องลางานมาศึกษาเพิ่มเติมที่วิทยาลัยฯ นอกจากทุนการศึกษาและค่าใช้จ่ายที่จำเป็นแล้ว ทางบริษัทฯ ยังคงจ่ายเงินเดือนให้ตามปกติ

“การเปิดโอกาสให้นักศึกษาของเราได้เข้าไปสัมผัสและเรียนรู้การซ่อมบำรุงจริงที่ศูนย์บริการ  ทำให้นักศึกษาได้สัมผัสกับเทคโนโลยีของฟอร์ดในรถยนต์รุ่นต่างๆ ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ในการทำงานได้ตรงจุด เพราะรถยนต์รุ่นใหม่ของฟอร์ดทุกรุ่นมีฟังก์ชันการใช้งานใหม่ๆ ที่น่าสนใจ อีกทั้งที่ศูนย์บริการของเรา ยังมีนวัตกรรมการบริการที่ทันสมัย ทั้งเทคโนโลยีช่วยเหลือระยะไกลด้วยแว่นตา RealWear และ ‘ฟอร์ดพาส’ แอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนใหม่จากฟอร์ดที่รองรับงานบริการหลากหลายรูปแบบ ที่นักศึกษาจะได้สัมผัสและเรียนรู้ เพื่อส่งมอบประสบการณ์ที่ดีในการเป็นเจ้าของรถยนต์ฟอร์ดให้กับลูกค้าต่อไป”  นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทยกล่าวเสริม

นายภาณุพงศ์ จรเดช หนึ่งในผู้ได้รับทุนการศึกษาในสายงานช่างยนต์เล่าว่า ตนสนใจงานสายช่างยนต์เนื่องจากปัจจุบันนี้รถยนต์รุ่นใหม่ๆ มีการนำเอานวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟอร์ด ที่มักจะสร้างกระแสให้กับวงการรถยนต์ด้วยเทคโนโลยีการขับขี่ที่ทันสมัย  ตนจึงได้ตัดสินใจเรียนต่อที่วิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ ที่มีระบบการศึกษาที่ดีเยี่ยม ได้พัฒนาและฝึกฝนทักษะจากการลงมือทำงานจริง เป็นประสบการณ์สุดประทับใจที่ผลักดันให้ตนพัฒนาความสามารถต่อไป