ฟอร์ดรับรางวัล ‘องค์กรรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น’
ต่อเนื่องเป็นปีที่ 11 จากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย
ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี รับรางวัลองค์กรรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น ระดับแพลทินัม (AMCHAM Corporate Social Responsibility Excellence Recognition Award at Platinum Level) ติดต่อกันเป็นปีที่ 11 จากหอการค้าอเมริกันในประเทศไทย โดยรางวัลองค์กรรับผิดชอบต่อสังคมดีเด่น สะท้อนการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องของฟอร์ดรวมถึงการเป็นองค์กรที่สนับสนุนและส่งเสริมความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วมทั้งในสถานที่ทำงานและในชุมชนที่เข้าไปดำเนินงาน โดยมี นายวิชิต ว่องวัฒนาการ กรรมการผู้จัดการ ฟอร์ด ประเทศไทย รับมอบรางวัลจาก มร. ไมเคิล ฮีธ อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ที่ให้เกียรติเป็นประธานในการมอบรางวัลในปีนี้
โครงการเพื่อสังคมที่ฟอร์ด ประเทศไทย ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทในการใส่ใจดูแลกันและกัน (Care For Each Other) ที่ฟอร์ดได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความแข็งแกร่งในชุมชนที่ฟอร์ดดำเนินธุรกิจอยู่ผ่านการทำกิจกรรมเพื่อสังคมหลากหลายมิติ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย ประกอบด้วย โครงการ ‘Ford Driving Skills for Life – ฉลาดขับ ประหยัด ปลอดภัย’ ที่ให้ความรู้ด้านการขับขี่ปลอดภัยผ่านการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติในสถานการณ์เสมือนจริง มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 มีผู้เข้ารับการอบรมแล้วกว่า 13,000 คน และโครงการ ‘Water Go Green – การจัดการน้ำพลังงานแสงอาทิตย์’ เพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ ซึ่งฟอร์ด ประเทศไทย และสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน หรือ พีดีเอ ได้จัดต่อเนื่องปีนี้เป็นปีที่ 6 รวมถึงการจัดโครงการมอบทุนการศึกษาเพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนไทยอย่างต่อเนื่อง
ฟอร์ดยังตระหนักถึงการส่งมอบความช่วยเหลือที่เร่งด่วนในยามวิกฤตช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยฟอร์ด ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับโพลีเน็ต ผลิตแว่นตานิรภัยทางการแพทย์ 13,000 ชิ้น และส่งมอบรถพยาบาลบริการการแพทย์ฉุกเฉินที่ดัดแปลงจากรถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ พร้อมอุปกรณ์การแพทย์ครบครันจำนวน 10 คัน ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานทางการแพทย์ การร่วมมือกันระหว่างศูนย์การเรียนรู้ฟอร์ดเพื่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม หรือ ศูนย์ FREC กรุงเทพฯ และองค์กรเพื่อสังคม ดำเนินโครงการ ‘COVID Relief Bangkok’ ต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมาเพื่อจัดเตรียมอาหารและสิ่งของที่จำเป็น ส่งมอบให้กับชุมชนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งนอกจากการส่งมอบความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีแล้ว ฟอร์ดยังมุ่งเสริมสร้างองค์ความรู้ที่ยั่งยืนและฟื้นฟูสภาพความเป็นอยู่ของผู้คนผ่านการจัดโครงการ ‘Regenerating Life – ฟอร์ดฟื้นฟูชีวิต’ จัดอบรมทักษะอาชีพเกษตรแบบเร่งด่วนให้แก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบเชิงเศรษฐกิจ จำนวน 250 ครัวเรือน ในพื้นที่ 9 จังหวัดสามารถหารายได้จุนเจือครอบครัว และการเปิดพื้นที่ในโรงงานให้ครอบครัวของผู้พิการจำนวน 17 ครอบครัวได้นำของมาขายเพื่อหารายได้เสริม
ในมิติของความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการสร้างการมีส่วนร่วม ฟอร์ดประเทศไทยได้จัดกิจกรรมสัมมนา ‘Global DEI Week’ โดยเชิญพันธมิตรและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญมาบรรยายเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวข้อง พร้อมนำเสนอบทสัมภาษณ์ที่มีเนื้อหาเป็นแรงบันดาลจากวิศวกรหญิงในวันวิศวกรหญิงสากล (International Women in Engineering Day) นอกจากนี้ ฟอร์ด ประเทศไทย ยังได้ร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรและกูเกิ้ล ประเทศไทย จัดโครงการ ‘Ford Moves Her Business – ฟอร์ดเติมฝันเกษตรกรหญิงรุ่นใหม่’ เพื่อตอกย้ำพันธกิจในการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงกลุ่มเกษตรกรหญิงรุ่นใหม่ที่เป็นแรงผลักดันทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ