อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จับมือภาครัฐและเอกชน จัดงาน Electric Vehicle Asia และ iEVTech 2023
ชูแนวคิด “ดันไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าอาเซียน” ขานรับเทรนด์โลก พัฒนาธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ขานรับเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้า เตรียมจัดงาน Electric Vehicle Asia 2023 (EVA) และ iEVTech 2023 งานแสดงเทคโนโลยีและการประชุมเฉพาะทางด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าระดับนานาชาติ ขนทัพเทคโนโลยีและนวัตกรรมสุดล้ำจากยานยนต์พลังงานสะอาด ชูแนวคิด “ดันไทยเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าอาเซียน”
ด้วยเทรนด์โลกที่มีความคำนึงถึงด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น จากปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทำให้หลายประเทศมีนโยบายหรือมาตรการต่างๆ เพื่อผลักดันและเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ประเทศไทยหนึ่งในประเทศที่มีความตั้งใจที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งเป้าหมายดังกล่าวเป็นการปรับโครงสร้างด้านพลังงาน โดยเฉพาะการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าถือเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในการแก้ปัญหา ด้วยความสำคัญนี้ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ในฐานะผู้นำธุรกิจด้านการจัดงานแสดงสินค้าและกิจกรรมสำหรับการเจรจาธุรกิจ ระดับนานาชาติ เดินหน้าจัดงาน Electric Vehicle Asia (EVA) และ การประชุมนานาชาติด้านยานยนต์ไฟฟ้า iEVTech 2023 ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 โดยผนึกกำลังทางภาครัฐและภาคเอกชน นำโดย กระทรวงพลังงาน, สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT), สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) และอีกหลากหลายหน่วยงาน วางเป้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมของไทย โดยมีหมุดหมายที่สำคัญคือ มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้า (EV Hub) ของภูมิภาคในอนาคต ทั้งขานรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ และตอบสนองอุปสงค์การเลือกใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น
นายกฤษฎา อุตตโมทย์ นายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) กล่าวว่า วันนี้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเติบโตและกลายเป็นที่ต้องการของตลาด โดยข้อมูลจากกรมขนส่งทางบกระบุไว้ว่าในปี 2565 ที่ผ่านมา พบว่า ตัวเลขการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เติบโตเพิ่มขึ้นเกือบๆ 400% ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับประเทศไทยหลังจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าได้ประกาศใช้มาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าเมื่อปีที่แล้ว พร้อมกันนี้ในช่วงต้นปี 2566 คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบในหลักการ เพื่อสนับสนุนการผลิตแบตเตอรี่ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 ลดเหลือร้อยละ 1 รวมทั้ง มาตรการที่สำคัญคือ การให้เงินสนับสนุนวงเงิน 24,000 ล้านบาท สำหรับการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) เพื่อเปลี่ยนยานยนต์เก่าที่ใช้เครื่องยนต์ระบบสันดาปภายใน (ICE) ไปเป็นระบบพลังงานไฟฟ้า ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นส่วนขับเคลื่อนที่สำคัญในการส่งเสริมการใช้ EV ในไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นายกฤษฎา ขยายความต่อไปว่า สำหรับสมาคมฯ เรามีแนวทางในการร่วมผลักดันความเป็นไปได้ในทุกๆ ช่องทางเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน ผู้ใช้งาน ผู้ประกอบการ ให้สามารถใช้ EV ได้อย่างเต็มศักยภาพ เช่น การจัดการแข่งขันรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงเพื่อธุรกิจในอนาคต ครั้งที่ 2 และอีกกิจกรรมสำคัญคือ การพัฒนาความรู้ความเข้าใจด้านเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า ด้วยการจัดงานสัมมนาทางวิชาการ iEVTech ร่วมกับ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 8 เพื่อนำเอาองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับยานยนต์พลังงานสะอาดมาถ่ายทอด ยิ่งในปัจจุบันความต้องการใช้รถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคมีแนวโน้มสูงขึ้นในกลุ่มผู้ใช้รถยนต์รายใหม่ การจัดงานในครั้งนี้ เราเชื่อมั่นว่าจะเกิดการแลกเปลี่ยนแนวทางในการผลักดันการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในไทยและภูมิภาคเพิ่มขึ้นในอนาคต
ด้าน ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล นายกสมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย (TESTA) กล่าวว่า เทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน เป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่มีความสำคัญต่อการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และนำไปสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของไทยและทั่วโลก โดยคาดการณ์การเติบโตในทั้งสองตลาดอยู่ในระดับที่สูงมาก ประมาณ 30% ต่อปี ด้วยความสำคัญดังกล่าว สมาคมฯ ได้เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานและแบตเตอรี่เพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมด้านแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ และอีกหนึ่งงานที่มีความสำคัญด้านยานยนต์ไฟฟ้าคือ งาน Electric Vehicle Asia (EVA) เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยนความรู้สำหรับผู้ที่สนใจเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าไม่เพียงแต่ในประเทศแต่ในระดับภูมิภาค โดยทางสมาคมฯได้เข้าร่วมจัดกิจกรรมต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 มีการอัพเดทข้อมูลและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการกักเก็บพลังงานผ่าน TESTA Symposium และร่วมจัดการประชุมวิชาการระดับภูมิภาคด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าอย่าง iEVTech 2023 ปีนี้ทางสมาคมฯ เน้นแนวคิดเรื่องความปลอดภัยและ แบตเตอรี่ ในกระบวนการผลิต (Value Chain)
นางสาวกชสร โตเจริญธนาผล รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหารโครงการ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า เราจัดงาน Electric Vehicle Asia และ iEVTech 2023 มาอย่างต่อเนื่องทุกปี และได้รับการสนับสนุนที่ดีจากทุกภาคส่วน โดยเวทีดังกล่าวได้รวบรวมผู้นำเทคโนโลยีและผู้ซื้อในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์จากทั่วทุกมุมโลกมาเจอกัน โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์ใหม่ที่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย อาทิ เทคโนโลยีและนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าแบบครบวงจร เพื่อรองรับความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายในอนาคต ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ซึ่งในปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Shaping The Future of ASEAN as Electric Vehicle Hub” หรือ ปักหมุดอนาคต สู่การเป็นศูนย์กลางยานยนต์ไฟฟ้าอาเซียน
“สำหรับไฮไลท์สำคัญของการจัดงานในปีนี้ คือ การรวบรวมผู้ซื้อ ผู้ประกอบการ จากกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ที่พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยมาจัดแสดง รวมถึงการเจรจาและจับคู่ทางธุรกิจ พร้อมกันนี้ยังมีการประชุมนานาชาติด้านยานยนต์ไฟฟ้า หรือ iEVTech 2023 รวบรวมหัวข้อต่างๆ เกี่ยวกับเทรนด์ยานยนต์ไฟฟ้าแบบครอบคลุม ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าชมงานกว่า 25,000 คน เราเชื่อมั่นว่าการจัดงานในปีนี้จะสร้างประโยชน์ในวงกว้างให้กับผู้ประกอบการในแวดวงอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งจากในไทยและต่างประเทศ รวมทั้งดึงดูดผู้ซื้อและนักลงทุนให้เข้ามาแลกเปลี่ยนตลอดจนขยายผลในการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าให้สอดรับกับเป้าหมายของประเทศและภูมิภาคที่จะบรรลุเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ โดยเราหวังว่าประเทศไทยจะเป็นผู้นำของภูมิภาคนี้” นางสาวกชสร กล่าวเสริม
เตรียมพบกับงาน Electric Vehicle Asia และ iEVTech 2023 โดยจัดขึ้นพร้อมกับงาน ASEAN Sustainable Energy Week 2023 (ASEW) งานแสดงนิทรรศการเทคโนโลยีและการประชุมนานาชาติด้านพลังงานทดแทน สิ่งแวดล้อม และการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่ครบครันที่สุดในภูมิภาค ระหว่างวันที่ 30 สิงหาคม -1 กันยายน 2566 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ (QSNCC) ติดตามข้อมูลการจัดงานเพิ่มได้ที่ www.evasia-expo.com