บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย สานต่อหนึ่งทศวรรษของโครงการ BMW Service Apprentice
ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ยกระดับศักยภาพนักศึกษาด้านยานยนต์ไฟฟ้า
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ในฐานะหนึ่งในผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ เดินหน้าส่งเสริมการพัฒนาทักษะด้านยานยนต์สมัยใหม่ โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า ให้แก่นักศึกษาอาชีวะที่มีศักยภาพ ผ่านการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีเป้าหมายในการดำเนินงานตามที่รัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) เพื่อสร้างศักยภาพการแข่งขันในอุตสาหกรรมบริการขนส่งและโลจิสติกส์ โดยมุ่งเน้นที่การผลักดันการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะความเชี่ยวชาญตรงกับความต้องการของอุตสาหกรรมยานยนต์ บันทึกข้อตกลงฉบับนี้ จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการผลิตและพัฒนาบุคลากรอาชีวศึกษา การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
มร. อเล็กซานเดอร์ บารากา ประธานและซีอีโอ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย กล่าวว่า “ด้วยพัฒนาการของนวัตกรรมยานยนต์และความนิยมที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องของยนตรกรรมไฟฟ้า บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ซึ่งช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญด้านยานยนต์ไฟฟ้าเป็นที่ต้องการเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีการขับเคลื่อนที่ใหม่สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เราจึงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรมยานยนต์ จึงมีความมุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับความสามารถของบุคลากรอาชีวศึกษาไทย เพื่อสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ รับกับความต้องการใช้งานยนตรกรรมไฟฟ้าในประเทศได้อย่างยั่งยืน ผ่านโครงการ BMW Service Apprentice Program และ German-Thai Dual Excellence Education Program ที่ดำเนินการมากว่า 11 ปี”
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย ร่วมกับหอการค้าเยอรมัน-ไทย และผู้จำหน่ายบีเอ็มดับเบิลยูอย่างเป็นทางการ ได้จัดทำโครงการ BMW Service Apprentice Program ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการศึกษาระบบทวิภาคีเยอรมัน-ไทย (German-Thai Dual Excellence Education program – GTDEE) เพื่อมอบทุนการศึกษาเต็มจำนวนและเบี้ยเลี้ยงตลอดระยะเวลาสองปีในโครงการให้กับนักศึกษาอาชีวะ พร้อมอบรมความรู้และฝึกฝนทักษะในสายงานด้านช่างเทคนิคให้แก่นักศึกษา ณ ศูนย์ฝึกอบรมของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย
นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา นักศึกษาทุกคนที่เข้าร่วมและจบหลักสูตรสองปีในโครงการ BMW Service Apprentice Program จะได้รับการรับรองมาตรฐานตามหลักสูตรการศึกษาและฝึกอบรมระบบทวิภาคีในต่างประเทศในระดับ A จากหอการค้าและอุตสาหกรรมแห่งประเทศเยอรมนี (DIHK Quality Category A) ซึ่งหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับดังกล่าว จะเทียบเท่ากับหลักสูตรการฝึกอาชีพสาขา
เมคคาทรอนิกส์ในรถยนต์ (Automotive Mechatronics) ของประเทศเยอรมนี โดยบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย นับเป็นองค์กรแรกในประเทศไทยที่ดำเนินการด้วยมาตรฐานในระดับ A สำหรับนักศึกษาทุกคนที่เข้าร่วมโปรแกรม โดยกว่า 74% ของนักเรียนทั้งหมดที่สำเร็จการศึกษาได้เข้าทำงานกับผู้จำหน่ายอย่างเป็นทางการของบีเอ็มดับเบิลยู
ยิ่งไปกว่านั้น เพื่อให้สอดคล้องกับนวัตกรรมและความนิยมในยานยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มมากขึ้นในประเทศไทย นักศึกษาอาชีวะที่ผ่านการทดลองปฏิบัติงานในระหว่างที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับโอกาสในการฝึกงานกับช่างเทคนิคผู้เชี่ยวชาญของบีเอ็มดับเบิลยู ที่ได้ผ่านการอบรมประกาศนียบัตรช่างไฟฟ้าแรงดันสูง ซึ่งประกอบไปด้วย 5 หลักสูตรเฉพาะทาง ได้แก่ หลักสูตรช่างยานยนต์ ช่างยานยนต์อาวุโส ช่างยานยนต์ขั้นสูง ช่างยานยนต์เฉพาะรุ่นรถยนต์ และช่างยานยนต์แรงดันไฟฟ้าสูง จึงมั่นใจได้ว่าจะสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านยานยนต์ไฟฟ้าให้กับบุคลากรอาชีวศึกษารุ่นใหม่ได้อย่างดีเยี่ยม
ตลอดระยะเวลากว่า 11 ปี มีนักศึกษาจากสถาบันอาชีวศึกษาจาก 5 แห่ง ได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา วิทยาลัยเทคโนโลยีดอนบอสโก วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคตะวันออก (อี.เทค) วิทยาลัยการอาชีพบางแก้วฟ้า (หลวงพ่อเปิ่นอุปถัมภ์) และวิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่ โดยเข้าร่วมโครงการ BMW Service Apprentice Program แล้ว 11 รุ่น ทั้งหมด 247 คน และสำหรับโครงการการศึกษาระบบทวิภาคีเยอรมัน-ไทย (German-Thai Dual Excellence Education Program) ซึ่งมีหลักสูตรประกาศนียบัตร 3 หลักสูตร มีนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดาและวิทยาลัยเทคนิคสัตหีบ เข้าร่วมแล้ว 8 รุ่น ทั้งหมด 107 คน รวมทั้งหมดจากสองโครงการ 354 คน โดยมุ่งสนับสนุนโอกาสทางการเรียนรู้ให้แก่นักศึกษาอาชีวะทั้งในด้านทฤษฎีและปฏิบัติ เดินหน้าสู่อนาคตแห่งการขับเคลื่อนอาชีวศึกษาไทยสู่แรงงานทักษะขั้นสูงเพื่อยกระดับศักยภาพภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอย่างต่อเนื่อง พร้อมผลักดันการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมยานยนต์สู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าอัจฉริยะ และส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรด้านยานยนต์ไฟฟ้าให้สามารถรองรับความต้องการของผู้ขับขี่ในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ