โตโยต้า จับมือ สวทช. และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ลดเปลี่ยนโลก เพิ่มนวัตกรรม
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดตัวงาน “โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า” บูรณาการความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการประกวด 2 ระดับ ได้แก่ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” และ “นวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก โดยมี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานฯ พร้อมด้วย นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. และ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมงาน
บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด และ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ได้ดำเนินกิจกรรม “โตโยต้า ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” หนึ่งในกิจกรรมภายใต้โครงการโตโยต้าเมืองสีเขียว มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ด้วยความมุ่งหวังในการสร้างจิตสำนึกให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาด้านภาวะโลกร้อน พร้อมทั้งหาแนวทางแก้ไข เปิดโอกาสให้โรงเรียน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ จัดทำแผนงานส่งเข้าประกวดเพื่อรณรงค์การลดภาวะโลกร้อนภายในชุมชนของตน โดยตลอดระยะเวลา 14 ปี ได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่โรงเรียน 299 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 238 แห่ง และ ชุมชน 162 แห่ง ทั่วประเทศ เกิดเป็นโครงการที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 23,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ในปีนี้ เพื่อขยายผลและต่อยอดความสำเร็จของโครงการให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น จึงเกิดเป็นความร่วมมือระหว่าง โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และ ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ภายใต้ชื่อ “โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า” มาพร้อมกับแนวคิดใหม่ ที่เกิดจากการตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและสถานการณ์มลภาวะในปัจจุบัน จึงมุ่งเน้นในการส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อลดมลพิษ ลดภาวะโลกร้อนในชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการให้ความสำคัญกับสถานศึกษาในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาพัฒนาเพื่อปรับใช้ในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ยุทธศาสตร์ชาติ (พ.ศ.2561-2580) และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560 -2564)
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การประกวด “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” และ “นวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก” ภายใต้โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้านี้ นอกจากจะเปิดโอกาสให้ชุมชนที่มีการดำเนินงานลดการปล่อยมลพิษสู่การลดภาวะโลกร้อนในพื้นที่อย่างยั่งยืนได้นำเสนอความสำเร็จแล้ว ยังเป็นเวทีสำคัญที่ส่งเสริมและสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนออกแบบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยนาโนเทคโนโลยี รวมถึงสร้างความตระหนักและกระตุ้นให้เยาวชนและประชาชนทั่วไปให้มีความรู้เรื่องการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยนาโนเทคโนโลยีได้อย่างถูกต้อง
“โครงการนี้ถือว่า เดินหน้าไปในทิศทางเดียวกับภารกิจสำคัญของกระทรวงฯ และตอบโจทย์นโยบายเรื่อง BCG Economy Model อีกทั้งยังเป็นการเตรียมประเทศไทยในศตวรรษที่ 21 ที่มีภารกิจสำคัญ 3 เรื่อง คือ การสร้างและพัฒนาคน การวิจัยเพื่อสร้างความรู้ และการสร้างและพัฒนานวัตกรรม ที่สำคัญคือ ปลายทางความคิดสร้างสรรค์ของเยาวชน จะถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริงในพื้นที่ชุมชนของผู้ชนะการประกวด หรือสามารถขยายผลสู่การนำไปใช้ในชุมชนอื่น ๆ ภายใต้โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า”
นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ ประธานคณะกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “โตโยต้า เล็งเห็นความสำคัญในการต่อยอดกิจกรรมลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา ให้สามารถตอบรับกับสถานการณ์สิ่งแวดล้อมในปัจจุบันได้ยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องปัญหามลภาวะ ซึ่งเรามุ่งหวังให้เกิดการตระหนัก ตลอดจนเริ่มลงมือปฏิบัติทั้งในระดับของโรงเรียน ชุมชน และสาธารณชน จึงเป็นที่มาของโครงการ ลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า ในวันนี้”
โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า ประกอบด้วย โครงการย่อย 2 โครงการ ได้แก่ 1) โครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก และ 2) โครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก
โครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก
การประกวดนวัตกรรมระดับเยาวชนจากการคิดค้น สร้างสรรค์ และพัฒนาผลงานนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม โดยสามารถต่อยอดเป็นผลงานต้นแบบสู่การใช้ประโยชน์ในระดับชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ที่มีทีมวิจัยศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ทั้งในด้านการเป็นวิทยากร นักวิจัยพี่เลี้ยง คณะกรรมการ และทีมที่ปรึกษาเพื่อการพัฒนาและต่อยอดต้นแบบเพื่อนำไปใช้ได้จริงในชุมชน
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. หน่วยงานที่มีบทบาทการพัฒนางานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาประเทศ ได้นำเทคโนโลยีมาปรับและประยุกต์ให้เหมาะกับสภาพปัญหา ความต้องการและบริบทของพื้นที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงความรู้และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมถึงการวิจัยพัฒนาด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของเมืองและชุมชน ประหยัดพลังงาน ลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และยกระดับความสามารถในการแข่งขันของการผลิต อุตสาหกรรม การเกษตร และบริการของประเทศ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
นอกจากนี้ ศูนย์แห่งชาติต่าง ๆ ภายใต้ สวทช. ดำเนินงานวิจัยเพื่อตอบโจทย์เรื่องของสิ่งแวดล้อมและนวัตกรรมสีเขียว เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน อาทิ โครงการส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวมในระดับตำบล: Smart Tambon” เพื่อยกระดับการพัฒนาท้องถิ่นด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม พัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม 5 ด้าน สร้างความรู้ ลดความเหลื่อมล้ำ นำร่องต้นแบบ 7 ตำบล 5 จังหวัด จะเป็นกลไกการพัฒนาชุมชน ให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด โดยใช้เทคโนโลยีปรับประยุกต์ให้เหมาะกับสภาพปัญหา ความต้องการและบริบทของพื้นที่และสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงความรู้และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น “ถุงพลาสติกสลายตัวได้สำหรับขยะอินทรีย์” โดยนำมันสำปะหลังของเกษตรกรไทยเป็นวัตถุดิบหลักมาผสมด้วยการใช้ความร้อนหลอม สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติภายใน 4 เดือน ในสภาพอากาศที่มีอุณหภูมิปกติ แต่หากอยู่ในพื้นที่อุณหภูมิสูง เช่น บ่อกักเก็บขยะที่มีขยะหนาแน่น จะทำให้จุลินทรีย์ย่อยสลายเร็วขึ้นในเวลา 3 เดือนก็สลายตัวได้ ซึ่งได้นำไปทดสอบในงานกาชาดที่ผ่านมา ไส้กรองนาโนเมมเบรนที่มีความละเอียดในการกรองสูง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองน้ำให้ปลอดภัยแก่การบริโภค นอกจากนี้นาโนเทคโนโลยียังสามารถใช้ในกระบวนการบำบัดน้ำเข้าสู่ระบบการกรองปกติ เพื่อยืดอายุการใช้งานและเพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบกรอง สารดูดซับความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ของนาโนเทค ที่ใช้วัสดุนาโนเพื่อเพิ่มการยึดเกาะของอนุภาคกราฟีน และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสารเคลือบกราฟีนให้ภาคเอกชนนำไปใช้ผลิตท่อดูดซับความร้อนในระบบราง และใช้งานจริงสำหรับการผลิตไอน้ำยิ่งยวด เป็นต้น และโครงการยกระดับผู้ประกอบการฟาร์มด้วยระบบไบโอแก๊ส เทคโนโลยีขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมการจัดการฟาร์มอย่างยั่งยืน เช่น การออกแบบและระบบผลิตก๊าซชีวภาพในฟาร์มสุกร และฟาร์มไก่ไข่ขนาดเล็ก การพัฒนาระบบทำความสะอาดก๊าซชีวภาพ Bio Scrubber และระบบนำก๊าซไปใช้ประโยชน์ในเครื่องต้นกำลัง ทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้า ลดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม
องค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในงานวิจัยและนวัตกรรมของ สวทช. นี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมโครงการประกวดนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก และแนวทาง พร้อมทั้งกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์กับเยาวชนเพื่อพัฒนาต่อยอดและสร้างมูลค่าเพิ่มจากทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพและท้องถิ่น รวมถึงส่งเสริมด้านการใช้พลังงานทดแทน การใช้ประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้ทางเกษตร การจัดการของเสีย และขยะ เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สู่การสร้างนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนต่อไป
ซึ่งจากกว่า 200 โครงการจากเยาวชนทั่วประเทศ มี 30 โครงการจาก 22 โรงเรียน ที่ผ่านการคัดเลือกในระดับภูมิภาคสู่ค่ายอบรมนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก เพื่อหา 10 โครงการ (สายสามัญ 5 ทีม สายอาชีพ 5 ทีม) ที่จะผ่านเข้ารอบสุดท้าย และจับมือกับนักวิจัยพี่เลี้ยงจาก สวทช. เพื่อการต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมร่วมกันเพื่อเข้านำเสนอผลงานในรอบชิงชนะเลิศ ณ งานประชุมวิชาการประจำปี สวทช. (NAC2020)
โครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก
การประกวดชุมชนที่มีการดำเนินงานลดการปล่อยมลพิษสู่การลดภาวะโลกร้อนในพื้นที่อย่างยั่งยืน โดยมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย สนับสนุนวิทยากรเพื่อการอบรมองค์ความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อมและปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ให้คำปรึกษาการดำเนินงานและการวิเคราะห์ปริมาณก๊าซเรือนกระจกและมลพิษ รวมถึงการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของชุมชน
ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า สถาบันฯ มีส่วนร่วมในโครงการ “โตโยต้าเมืองสีเขียว” อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2548 ด้วยหวังสร้างจิตสำนึกให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาด้านภาวะโลกร้อนในปัจจุบัน พร้อมทั้งแนวทางแก้ไข โดยการเปิดโอกาสให้โรงเรียน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ ผ่านเวทีประกวด เพื่อช่วยสนับสนุนการลดภาวะโลกร้อนภายในพื้นที่ของตน
“สำหรับปีนี้ นับเป็นความยินดียิ่งที่มีพันธมิตรด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ที่จะต่อยอดให้การลดภาวะโลกร้อน รวมถึงการรักษาสิ่งแวดล้อมผ่านนวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมจนสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน”
นอกเหนือไปจากโครงการประกวดในระดับชุมชน และโรงเรียน ในปีนี้ โตโยต้าพยายามผลักดันให้เกิดการตระหนักในปัญหาสิ่งแวดล้อม และเริ่มลงมือปฏิบัติจริง จึงได้เปิดตัวเว็บไซต์ www.ลดเปลี่ยนโลก.com ตั้งแต่ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา เพื่อเชิญชวนสาธารณชน มาร่วมลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง ผ่านการใช้ภาชนะทดแทน โดยโตโยต้าจะสนับสนุนเงิน 1 บาท ต่อ 1 การลดขยะพลาสติก เพื่อนำไปต่อยอดนวัตกรรมของผู้ชนะ “โครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก” จนถึงปัจจุบัน มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมดังกล่าวกว่า 31,000 คน ลดขยะไปได้กว่า 29,000 กิโลกรัม และเกิดเป็นกิจกรรมเพื่อลดขยะไปกว่า 550,000 ครั้ง (เทียบเท่าเงินสนับสนุน 550,000 บาท)
สำหรับทีมผู้ชนะเลิศในโครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก และนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก จะได้ไปนำเสนอผลงานแก่ผู้บริหาร จากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงศึกษาดูงาน เพื่อนำองค์ความรู้ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ จากญี่ปุ่น มาประยุกต์ใช้ในการต่อยอดผลงานของตน โดยชุมชนที่ชนะเลิศจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการพัฒนาชุมชนของตนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” ในระดับจังหวัด ในขณะที่โรงเรียนที่ชนะเลิศจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนสร้าง “นวัตกรรมต้นแบบ” ขนาดใช้ได้จริงเพื่อนำไปสู่ชุมชนต่อไป