โตโยต้านำเสนอยานพาหนะที่เป็นโซลูชั่นแห่งการขับเคลื่อนที่ยั่งยืน
สำหรับมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก กรุงปารีส ปี 2024
ก่อนที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก กรุงปารีส ปี 2024 จะเริ่มต้นขึ้น บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น (โตโยต้า) ได้ยกระดับความร่วมมือระดับโลกที่มีมาอย่างยาวนาน กับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) และคณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (IPC) ผ่านการส่งมอบยานพาหนะเพื่อการขับเคลื่อนที่มีความยั่งยืนจำนวน 3,374 ยูนิต เพื่อสนับสนุนนักกีฬา เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร สื่อมวลชน และผู้เข้าร่วมชมในเกมส์การแข่งขัน โซลูชั่นการขับเคลื่อนเหล่านี้ได้รับการออกแบบเป็นพิเศษ โดยได้ผสานอัตลักษณ์ของการแข่งขันที่กรุงปารีส 2024 เพื่อเน้นย้ำถึงความร่วมมืออันแข็งแกร่งระหว่างโตโยต้าและมหกรรมกีฬาระดับโลก
โตโยต้าจะนำเสนอรูปแบบการบริการยานพาหนะของโตโยต้า เพื่อมอบบริการให้ผู้ใช้งานสามารถใช้ยานพาหนะร่วมกันผ่านการเชื่อมต่อและการใช้งานบนแอปมือถือ ภายใต้ชื่อ KINTO Share ของโตโยต้า เพื่อให้มั่นใจว่าผู้เข้าร่วมงานทุกคนจะสามารถเข้าถึงการใช้งานยานพาหนะได้อย่างเท่าเทียมและไม่ยุ่งยาก โดยบริการแชร์ริ่ง KINTO Share นี้ จะเริ่มเปิดให้คณะกรรมการจัดงานกรุงปารีส ปี 2024 ใช้งานได้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2023 และจะมีการเสริมทัพยานพาหนะเพิ่มเติมอีก เพื่อให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิก มีความยืดหยุ่นในการเดินทางมากยิ่งขึ้น
รากฐานสำคัญในปรัชญา Mobility for All ของโตโยต้า ตั้งอยู่บนความเชื่อที่ว่าอิสระในการขับเคลื่อนเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การมีส่วนร่วมทางสังคมอย่างตื่นตัว โตโยต้าได้มุ่งสร้างการเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นบริษัทแห่งการขับเคลื่อน ผ่านการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าในการมุ่งลดอุปสรรคและข้อจำกัดทางด้านการขับเคลื่อน อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลกอย่าง “Start Your Impossible” (SYI) ที่มุ่งเสริมสร้างพลังให้ทุกคนได้ท้าทายตัวเองและลงมือทำ “สิ่งที่เป็นไปไม่ได้” การนำเสนอยานพาหนะเหล่านี้ นับเป็นการสนับสนุนที่นอกเหนือจากความร่วมมือระหว่างโตโยต้ากับนักกีฬาของโตโยต้าทั่วโลก จำนวนกว่า 200 คน จากกว่า 40 ประเทศที่เข้าร่วมในการแข่งขันรายการนี้
มร. เพรสตัน แทน (Preston Tan) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย ได้กล่าวว่า “โตโยต้าทุ่มเทเพื่อสร้างโลกที่ทุกคนมีอิสระในการขับเคลื่อน และให้ทุกคนได้ตระหนักถึงศักยภาพสูงสุดของตนเอง เพื่อมุ่งบรรลุวิสัยทัศน์ ‘การขับเคลื่อนสำหรับทุกคน’ (Mobility for All) ของโตโยต้า โดยหลักการนี้คือสิ่งที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (IPC) และโตโยต้าต่างยึดมั่นร่วมกัน เพื่อสนับสนุนและขจัดอุปสรรคในการขับเคลื่อนให้กับนักกีฬาทุกคน เราภูมิใจที่ได้นำความก้าวหน้าล่าสุดจากกลยุทธ์ Multi-Pathway เพื่อนำเสนอทางเลือกด้านเทคโนโลยีในการขับเคลื่อนอันหลากกลายของโตโยต้า มาสู่มหกรรมการแข่งขันกีฬาที่กรุงปารีส ปี 2024 ซึ่งเป็นการตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสร้างโลกอนาคตแห่งการขับเคลื่อนที่มีความครอบคลุมและยั่งยืนของเรา ซึ่งจะมีส่วนทำให้ทุกคนได้เริ่มต้นทำสิ่งที่ ‘เป็นไปไม่ได้’ ให้เป็นไปได้”
ในความร่วมมือกับคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) คณะกรรมการพาราลิมปิกสากล (IPC) และคณะกรรมการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกกรุงปารีส โตโยต้าจะนำต้นแบบยานพาหนะแห่งการขับเคลื่อน (mobility concept) ที่ครอบคลุมและยั่งยืนมาใช้งานจริงในการแข่งขันที่กรุงปารีส ปี 2024 ซึ่งจะทำให้นักกีฬาและครอบครัว เจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และผู้เข้าชมการแข่งขันมีอิสระในการขับเคลื่อนอย่างยั่งยืนและปลอดภัยภายในพื้นที่หมู่บ้านนักกีฬาและตลอดสถานที่จัดการแข่งขัน
เพิ่มอิสระในการขับเคลื่อนสำหรับทุกคน
เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงหลักการ “Mobility for All” โตโยต้าได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ด้านการขับเคลื่อนสำหรับการใช้งานส่วนบุคคลและการใช้งานเป็นกลุ่มกว่า 700 ยูนิต ให้กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิก กรุงปารีส ปี 2024 เพื่ออำนวยความสะดวกในการขับเคลื่อนแก่ทุกคน
โตโยต้ายังได้จัดเตรียมยานพาหนะไฟฟ้าแบตเตอรี่ส่วนบุคคล C+walkS แบบนั่งและ C+walkT แบบยืน ซึ่งเป็นยานหานะที่มีความเร็วสูงสุด 6 กม./ชม. จำนวนมากกว่า 250 คัน โดยยาพาหนะทั้ง 2 รุ่นมาพร้อมระบบตรวจจับสิ่งกีดขวางด้านหน้า เพื่อเสริมความปลอดภัยให้กับผู้ขับขี่และผู้คนรอบข้าง
ด้วยความมุ่งมั่นในการส่งเสริมการขับเคลื่อนที่ครอบคลุมแห่งอนาคต โตโยต้าได้พัฒนาเก้าอี้รถเข็นวีลแชร์ e-puller โดยปัจจุบันมีอยู่จำนวน 50 คันที่หมู่บ้านนักกีฬาในการแข่งขันที่กรุงปารีสปี 2024 และมีแผนจะเพิ่มจำนวนเก้าอี้รถเข็น e-puller นี้ อีก 150 คันในระหว่างพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักกีฬาด้วย
นอกจากนี้ ยังมีการนำยานพาหนะสำหรับเคลื่อนย้ายผู้โดยสาร หรือ APM (Accessible People Mover) แบบใช้ไฟฟ้าและปล่อยไอเสียเป็นศูนย์ที่ได้รับการออกแบบใหม่จำนวน 250 คัน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานที่มีข้อจำกัดทางร่างกายสามารถใช้งานภายในงานได้อีกด้วย โดย APM จะทำหน้าที่เป็นยานพาหนะรับ-ส่งหลัก ระหว่างหมู่บ้านนักกีฬา และสถานที่จัดการแข่งขัน รวมทั้ง ยังมีรถยนต์ไฟฟ้า รุ่น Toyota Proace Verso ที่รองรับผู้ใช้เก้าอี้รถเข็นอีกจำนวน 150 คัน ซึ่งจะถูกเก็บไว้ใช้งานต่อไปในกรุงปารีสหลังจบการแข่งขันแล้ว
แสดงให้เห็นถึงแนวทาง Multi-Pathway ของโตโยต้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน
ความยั่งยืนเป็นหัวใจสำคัญของพันธกิจของโตโยต้าในการสร้างโลกที่ดีกว่า โตโยต้ายังคงมุ่งมั่นที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนทั่วโลกภายในปี 2050 โตโยต้าได้ทำการส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าหลากหลายรูปแบบ โดยได้ส่งมอบยานพาหนะโดยสารพลังงานไฟฟ้าเต็มรูปแบบจำนวน 2,650 คัน ให้กับงานที่กรุงปารีส ปี 2024 โดยในจำนวนนี้ มี 150 คันที่สามารถรองรับเก้าอี้รถเข็นได้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากแนวทาง Multi-Pathway
โดย 60% ของยานพาหนะที่ปล่อยไอเสียเป็นศูนย์ ได้แก่ รถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) รุ่น Toyota bZ4X รุ่น Proace รุ่น Proace Verso และรุ่น Lexus RZ ส่วนรถยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (FCEV) รุ่น Toyota Mirai โดย Toyota Mirai เป็นตัวอย่างที่สะท้อนถึงความทุ่มเทของโตโยต้าในการผลิตยานพาหนะที่ไม่มีการปล่อยมลพิษ โดยเป็นรถยนต์ซีดานที่ขับเคลื่อนด้วยเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ออกแบบจากการผสมผสานข้อดีของการขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเข้ากับความสะดวกสบายและใช้งานง่ายในแบบที่ไม่มีใครเทียบ ทั้งยังมีความคล่องตัว และชาร์จไฟได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ภายใต้ความร่วมมือกับ Air Liquide ทัพรถยนต์ Toyota Mirai ที่ใช้ระหว่างการแข่งขันที่กรุงปารีส ปี 2024 จะใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน ที่กำเนิดจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนอีกด้วย
โตโยต้าเชื่อว่าพลังงานไฮโดรเจนจะเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมสร้างโลกคาร์บอนต่ำ เราจึงนำเสนอวิสัยทัศน์ในการสร้างระบบนิเวศของไฮโดรเจนที่ยั่งยืน ผ่านโซลูชั่นที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจนที่ก้าวล้ำกว่าเทคโนโลยีในปัจจุบัน รูปแบบของการขับเคลื่อนด้วยไฮโดรเจน และการใช้งานที่หลากหลายกว่า 10 รูปแบบ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบพลังงานเซลล์เชื้อเพลิง จะถูกจัดแสดงที่การแข่งขันโอลิมปิก-พาราลิมปิก ปี 2024 ในกรุงปารีส รวมถึงรถบัส พลังงานเซลล์เชื้อเพลิง หรือ FCEV จำนวน 2 คัน ที่มีการดัดแปลงสำหรับการแข่งขันโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีรถบรรทุก FCEV รถยกโฟล์คลิฟท์ FCEV เรือและรถโค้ช FCEV รวมถึงรถต้นแบบของ Hilux ด้วย
ส่งเสริมให้ทุกคนเริ่มต้นทำใน ‘สิ่งที่เป็นไปไม่ได้‘ ของตัวเอง
ความทุ่มเทของนักกีฬาในการเล่นและเอาชนะความท้าทายถือได้ว่าเป็นต้นแบบของค่านิยมหลักในการพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่องของโตโยต้า รวมถึงความตั้งใจในการสร้างโลกที่มีความครอบคลุมและยั่งยืนสำหรับทุกคนมากยิ่งขึ้น โตโยต้าเป็นพันธมิตรที่น่าภาคภูมิใจของทีมนักกีฬาโตโยต้าทั่วโลกกว่า 200 คนจาก 40 ประเทศ ซึ่งกำลังมุ่งหน้าไปยังการแข่งขันที่กรุงปารีส ปี 2024 นี้
โตโยต้า มอเตอร์ เอเชีย ร่วมมือกับนักกีฬารุ่นแรกในเอเชียจำนวน 11 คน จากประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เนปาล ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม ภายใต้การเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Start Your Impossible (SYI) ซึ่งเป็นโครงการระดับโลกโครงการแรกของโตโยต้าที่ต้องการสร้างสังคมที่ดีกว่าเดิม โตโยต้าที่ดีกว่าเดิม รวมถึงการขับเคลื่อนที่ดีกว่าเดิมสำหรับทุกคน จากความร่วมมือเหล่านี้ โตโยต้าได้สนับสนุนนักกีฬาทีมโตโยต้าในระดับโลกเพื่อพิชิตเป้าหมายด้านกีฬาและกิจกรรมเพื่อสังคมผ่านโครงการฮีโร่ (Hero Projects) ซึ่งมุ่งมั่นในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในเชิงบวก