ในปี 2566 จำนวนรถยนต์ที่ถูกสถาบันการเงินยึด เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปีก่อนหน้า
ในช่วงปีพ.ศ. 2566-2567 ตลาดรถยนต์มือสองในประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ในปี 2566 จำนวนรถยนต์ที่ถูกสถาบันการเงินยึดมีประมาณ 250,000-300,000 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าจากปีก่อนหน้า (150,000-180,000 คัน) รถที่ถูกยึดทั้งหมดจะถูกส่งไปลานประมูลต่าง ๆ กลายเป็นว่าปี 2566 มีรถเข้าลานประมูลสูงถึงเกือบ 3 แสนคัน ส่งผลให้ปริมาณรถมือสองล้นตลาด ผู้ประกอบกิจการรถมือสองจำเป็นต้องกดราคาขายให้ต่ำไป บางเต็นท์อาจถึงขั้นต้องยอมปล่อยขาดทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจให้ยังคงดำเนินต่อไปได้
การลดลงของราคานี้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในหลายมิติ แต่ในขณะเดียวกันก็เปิด “โอกาสทอง” ให้ผู้ซื้อสามารถเข้าถึงรถยนต์ที่ต้องการได้ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม
นอกจากนี้ สถาบันการเงินยังเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่ประกอบอาชีพอิสระ เนื่องจากการพิสูจน์รายได้อาจเป็นเรื่องยาก ทำให้กลุ่มผู้ซื้อรถกระบะที่มีศักยภาพลดลงอย่างมาก ราคาของรถกระบะจึงลดลงเร็วกว่ากลุ่มรถยนต์อื่นๆ ในขณะเดียวกัน เต็นท์รถก็ลดการรับซื้อรถกระบะและลดสัดส่วนของรถกระบะในพอร์ตการขายลงด้วย
รถยนต์ประเภทอเนกประสงค์ (SUV, MPV) กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวาง เหมาะสำหรับการเดินทางไกลของครอบครัว และอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายกว่า
สิ้นเดือนพฤษภาคม 2567 เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัว โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย 0.3% และการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานมีแนวโน้มที่ดีขึ้น คาดว่าตลาดรถยนต์มือสองจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 6 เดือนข้างหน้า ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวม
ข้อมูลจากฝ่ายวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลชอบรถ (Chobrod.com) และ รายงานธนาคารแห่งประเทศไทย (bot.or.th)
ความต้องการรถยนต์ลดลงแต่เริ่มฟื้นตัว
ในสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วไปที่ยากลำบากส่งผลให้ความต้องการซื้อรถยนต์ในประเทศไทยลดลงตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2566 การค้นหารถยนต์มือสองลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 จนถึงเดือนเมษายน 2567 เหลือเพียง 660,000 ครั้ง แต่ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2567 เศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น การท่องเที่ยวและการใช้จ่ายส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่งผลให้ความต้องการรถยนต์ก็เริ่มเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
แบรนด์รถยนต์ที่มีการค้นหามากที่สุดสำหรับรถมือสอง ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2024
ไม่น่าแปลกใจที่แบรนด์รถยนต์ที่คนไทยค้นหาเยอะที่สุดส่วนใหญ่เป็นรถยนต์จากญี่ปุ่น โดย Toyota นำโด่งด้วยการค้นหา 25.6% ตามด้วย Honda และ Isuzu ที่มีการค้นหา 16.5% และ 7.2% ตามลำดับ
แบรน์รถจากเยอรมันอย่าง BMW และ Mercedes-Benz ก็ได้รับความนิยมในไทยเช่นกัน โดยเฉพาะรถยนต์มือสองของทั้งสองแบรนด์นี้ได้รับความต้องการสูงมาก มีการค้นหาเฉลี่ยมากกว่า 54,000 ครั้งต่อเดือน
รถยนต์ขนาดใหญ่ดึงดูดความสนใจของลูกค้า
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 รถยนต์ 9 ใน 10 รุ่นที่ได้รับความนิยมสูงสุดในไทยมาจากแบรนด์ญี่ปุ่น โดยมีเพียง Ford Ranger จากอเมริกาเท่านั้นที่ติดอันดับ Isuzu D-Max ครองอันดับ 1 ด้วยจำนวนการค้นหาเกือบ 163,000 ครั้ง ตามด้วย Honda Civic และ Toyota Hilux Revo ที่ครองอันดับ 2 และ 3 ด้วยจำนวนการค้นหา 148,000 และ 130,000 ครั้งตามลำดับ
รถกระบะ รถยนต์สมรรถนะสูงอย่าง Honda CR-V, Toyota Fortuner รือรถเก๋งที่มีพื้นที่กว้างขวางอย่าง Honda Civic, Honda Accord เป็นที่ต้องการของผู้ซื้อมากที่สุด เนื่องจากมีพื้นที่กว้างขวางและตอบสนองความต้องการด้านการขนส่งได้ดี
ราคารถยนต์ลดลง เป็นโอกาสของผู้ซื้อรถยนต์
ปี 2566 มีรถยนต์เกือบ 300,000 คัน จากสถาบันสินเชื่อ เข้าสู่กระบวนการประมูล ทำให้ปริมาณรถยนต์มือสองเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่ความต้องการซื้อรถยนต์ลดลง ส่งผลให้เกิดภาวะอุปทานล้นตลาด ราคาขายรถยนต์มือสองจึงลดลงอย่างมาก ภายใน 18 เดือนนับจากต้นปี 2566 ราคาขายรถยนต์มือสองลดลงถึง 18%
ตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ปี 2566 ตลาดรถยนต์มือสองเผชิญกับภาวะราคาตกต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงปลายปี 2566 ที่ราคาลดลงมากกว่า 10% เมื่อเทียบกับต้นปี แนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไปในปี 2567 โดยเฉพาะรถแฮทช์แบ็กที่ราคาลดลงถึง 17.1% ในไตรมาสที่ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปี 2566
อย่างไรก็ตาม ราคาที่ลดลงอย่างรวดเร็วนี้เป็นโอกาสสำหรับผู้ซื้อที่ต้องการเป็นเจ้าของรถยนต์ในราคาที่ถูกกว่าเดิม ภายในเดือนมิถุนายน 2567 สัญญาณเศรษฐกิจบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป และสถาบันการเงินเริ่มปล่อยสินเชื่อเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้มากขึ้นเพื่อลดหนี้เสีย ดังนั้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ราคาของรถยนต์มือสองอาจปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง ผู้ซื้อควรพิจารณาสมดุลของงบประมาณและเลือกเวลาที่เหมาะสมในการซื้อรถยนต์
รถกระบะหมดเสน่ห์ รถอเนกประสงค์ ขึ้นครองบัลลังก์
ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ยอดขายรถกระบะใหม่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนแบ่งการตลาดของรถกระบะใหม่ได้ลดลงจาก 45.7% ในปี 2565 เหลือเพียง 34% ในปี 2566 และในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ยอดขายรถกระบะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 29% ของยอดขายรถยนต์ใหม่ทั้งหมด(*)
ในตลาดรถยนต์มือสอง ความต้องการรถกระบะก็ลดลงเช่นกัน เนื่องจากกลุ่มลูกค้าที่ซื้อรถรุ่นนี้มีปัญหาในการขออนุมัติสินเชื่อ โดยระดับการค้นหารถกระบะมือสองลดลงอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2566 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 อัตราการค้นหารถกระบะคิดเป็น 15% ลดลง 2.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
เนื่องจากรถยนต์อเนกประสงค์ (SUV, MPV) มีความสะดวกในการใช้งานสำหรับครอบครัวและมีการเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายกว่ารถกระบะ ทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ หันมาสนใจรถยนต์ประเภทนี้มากขึ้น โดยอัตราการค้นหารถยนต์อเนกประสงค์เพิ่มขึ้นในแต่ละไตรมาส โดยในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 มีอัตราการค้นหารถยนต์อเนกประสงค์เฉลี่ย 33 ครั้งจากการค้นหารถยนต์ทั้งหมด 100 ครั้ง
อุปทานรถกระบะมือสองลดลง
เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของรถแต่ละกลุ่มที่เปลี่ยนไป ทางเต็นท์จึงได้มีการปรับโครงสร้างพอร์ตการขายให้สอดคล้องกัน แต่ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 สถาบันการเงินเริ่มเข้มงวดนโยบายสินเชื่อ ทำให้คนซื้อรถกระบะเข้าถึงสินเชื่อยากขึ้น เนื่องจากปัญหาการพิสูจน์รายได้ ทำให้สัดส่วนรถกระบะมือสองที่ขายได้ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 ลดลง 7% เหลือ 19% ของจำนวนประกาศทั้งหมด เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในทางกลับกัน ลูกค้าของกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ (SUV, MPV) มักเป็นคนซื้อรถเพื่อสนองความต้องการการเดินทางของครอบครัว มีรายได้ที่มั่นคง และอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายกว่ารถกระบะ ทำให้สัดส่วนการขายรถยนต์อเนกประสงค์ (SUV, MPV) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2567
แสงสว่างที่ปลายอุโมงค์
แม้ว่าตลาดรถยนต์มือสองในไทยกำลังเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากที่สุด แต่ก็ยังมีสัญญาณบวกในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ข้อมูลจากธนาคารโลก World Bank แสดงให้เห็นว่า GDP ของไทยในปี 2567 จะเติบโต 2.4% ซึ่งสูงกว่า GDP ในปีที่ผ่านมาที่ 1.9%
ในภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัวนั้น สถาบันการเงินมักจะผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อและพยายามลดอัตราหนี้เสีย ส่งผลให้ผู้ซื้อรถยนต์มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้ ราคาขายรถยนต์ที่ลดลงในช่วงนี้ ยังช่วยลดต้นทุนสำหรับผู้ซื้ออีกด้วย อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าราคารถยนต์มือสองจะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งในช่วงปลายปีนี้หรือต้นปี 2568 เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวแข็งแกร่งขึ้น ดังนั้น ผู้ที่วางแผนซื้อรถยนต์ควรพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมในการชำระค่ารถ เพื่อให้ได้ราคาที่ดีที่สุด
Related