ฟอร์ดเผย เทรนด์ผู้บริโภคในปี 2021
พบคนทั่วโลกปรับตัวและยืดหยุ่นเพื่อรับมือกับยุคโควิด-19 ได้ดี
ปฏิเสธไม่ได้ว่าปี 2020 เป็นปีแห่งความท้าทายที่ไม่เคยมีใครคาดคิดมาก่อน โควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคในทุกๆ ด้าน ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และผลกระทบต่ออารมณ์ความรู้สึก การแพร่ระบาดของโรคอันตรายครั้งนี้เป็นบททดสอบสำหรับทุกคน ทั้งในแง่ปัจเจกบุคคล ครอบครัว ภาคสาธารณสุข และสังคมโดยรวม แต่รายงานแนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคประจำปี 2563 หรือ Looking Further with Ford Trends ประจำปีที่ 9 ก็พบว่า ผู้คนทั่วโลกมีความยืดหยุ่น พร้อมปรับตัว และเรียนรู้ที่จะรับมือกับความท้าทายได้ดีเช่นกัน
“เรากำลังก้าวเข้าสู่ปี 2021 และเราต่างก็หวังว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 จะกลายเป็นเพียงเหตุการณ์ในอดีต แน่นอนว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากจากการแพร่ระบาดโรคที่เกิดขึ้น ฟอร์ดและบริษัทชั้นนำหลายแห่งต่างอยากรู้ว่า การเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้จะส่งผลระยะยาวอย่างไรบ้างต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค แม้เราไม่อาจคาดเดาอนาคตได้ แต่ก็ใช่ว่าเราจะเตรียมความพร้อมไม่ได้” เชอริล คอนเนลลี ผู้จัดการด้านการวิจัยแนวทางผู้บริโภคและนักอนาคตศาสตร์ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี กล่าว
จากผลสำรวจใน 14 ประเทศทั่วโลก พบว่า ร้อยละ 69 ของกลุ่มตัวอย่างรู้สึกหนักใจกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อถูกถามว่า พวกเขาปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 53 กล่าวว่า “ยากกว่าที่คิด” ขณะที่ร้อยละ 47 เห็นว่า “ง่ายกว่าที่คิด” โดยคนรุ่นใหม่รู้สึกถึงความท้าทายมากกว่า ซึ่งร้อยละ 63 ของกลุ่ม Gen Z รู้สึกว่าการปรับตัวยากกว่าที่คิด เมื่อเทียบกับคนยุคเบบี้บูมเมอร์มีความเห็นไปในทางเดียวกันเพียงร้อยละ 42
รายงานเทรนด์ปี 2021 ของฟอร์ด วิเคราะห์รูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปของพฤติกรรมและความคิดของผู้บริโภครอบโลกเพื่อช่วยให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจเข้าใจได้ว่า การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อโลกในปี 2021 และปีต่อๆ ไป อย่างไร โดยรายละเอียดอื่นๆ จากรายงานดังกล่าว มีดังต่อไปนี้
- ความกดดันรอบด้าน: ผู้คนทั่วโลกต่างรู้สึกหวั่นใจ ทั้งความกลัวที่จะติดโรคโควิด-19 และความกังวลว่าโรคร้ายอาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชน การจ้างงาน การศึกษา และอื่นๆ โดยร้อยละ 63 ของผู้ใหญ่ทั่วโลกกล่าวว่า รู้สึกเครียดมากขึ้นกว่าปีก่อน และ 4 ใน 5 ของคนกลุ่มนี้เห็นว่า ควรดูแลสุขภาพจิตของตนให้มากขึ้น เมื่อมีความตื่นตัวว่าโรคระบาดนั้นอาจกระทบต่อจิตใจ ผู้คนจึงมองหาวิธีสร้างสรรค์ที่จะช่วยเยียวยาและเติมแรงใจให้ตนเองกันมากขึ้น
- พื้นที่ส่วนตัว: “วันนี้วันอะไร” กลายเป็นคำถามติดปากไปแล้วเมื่อบรรยากาศการใช้ชีวิตในวันทำงาน และวันหยุดแทบไม่ต่างกัน ผู้บริโภคกำลังหาทางออกจากวงจรชีวิตเดิมๆ ของการเก็บตัวให้พ้นจากโรคติดต่อ และความจำเจของการอยู่บ้าน หลายคนเลือกที่จะเปลี่ยนบรรยากาศโดยใช้ยานพาหนะเป็นทางออก ผู้ใหญ่กว่า 1 ใน 4 ทั่วโลกที่เป็นเจ้าของรถกล่าวว่า รถคือพื้นที่ในการพักผ่อน และเกือบ 1 ใน 5 เลือกใช้รถยนต์เมื่อต้องการพื้นที่ส่วนตัว และร้อยละ 17 ใช้รถเป็นพื้นที่ในการทำงาน
- เหงาเมื่อต้องห่างกัน: โรคโควิด-19 ทำให้เห็นได้ชัดว่าผู้บริโภคยังต้องการรวมกลุ่มกับผู้อื่น และคิดถึงความใกล้ชิดระหว่างกัน โควิด-19 ทำให้ความเหงาแทรกซึมอยู่ทุกมุมทั่วโลก โดยครึ่งหนึ่งของผู้คนทั่วโลกรู้สึกเหงาบ่อยๆ ขณะที่กลุ่มคนรุ่นใหม่เหงากว่าคนกลุ่มอื่น กล่าวคือ กลุ่ม Gen Z ที่รู้สึกเหงาทุกวัน มีจำนวนมากถึงร้อยละ 64 หรือคิดเป็น 2 เท่าของกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ ที่ร้อยละ 34 ตอบว่าตนเหงาอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นหลายคนเริ่มคิดถึงการย้ายที่อยู่ไปให้ใกล้กับครอบครัวมากขึ้น หรือการพยายามสานสัมพันธ์กับผู้คนอื่นผ่านช่องทางใหม่ๆ มากขึ้น ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์
- ใส่ใจช่องว่างทางสังคม: ความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมกันยังคงแผ่ขยายวงกว้างทั่วโลก โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลต่อกระทบมากที่สุดต่อชุมชนผู้มีรายได้น้อย ชนกลุ่มน้อย และกลุ่มผู้หญิง เมื่อผู้คนรับทราบถึงความไม่เท่าเทียมกันมากขึ้น แบรนด์ต่างๆ จึงเข้ามาทำหน้าที่เป็นทั้งนักเคลื่อนไหวและผู้ประกอบการ โดยผู้ใหญ่ทั่วโลกกว่าร้อยละ 76 คาดหวังให้แบรนด์มีจุดยืนต่อปัญหาทางสังคม และร้อยละ 75 มองว่าในปัจจุบันแบรนด์ต่างๆ กำลังทำในสิ่งที่ถูกต้อง
- ช็อปวิถีใหม่: วิธีการซื้อและสิ่งที่ซื้อได้เปลี่ยนไปในช่วงการแพร่ระบาดครั้งนี้ บริษัทเล็กใหญ่ต่างต้องปรับตัวอย่างรวดเร็ว และผู้บริโภคก็ต้องปรับตัวและโอบรับชีวิตวิถีใหม่ โดยผู้ใหญ่ทั่วโลกกว่าร้อยละ 75 ชื่นชอบการที่บริษัทต่างๆ ได้พัฒนาและปรับเปลี่ยนประสบการณ์การช็อปปิ้งตั้งแต่เริ่มมีการระบาดของโรค ในขณะที่ร้อยละ 41 ไม่ต้องการกลับไปช็อปปิ้งในแบบเดิมอีกแล้ว
- จุดเปลี่ยนเรื่องการเดินทาง: การแพร่ระบาดของโรคอาจทำให้ใครหลายคนรู้สึกติดอยู่กับที่ แต่ก็ไม่สามารถทำให้หลายคนหยุดนิ่งได้ ยานพาหนะส่วนบุคคลเพ่มขึ้นนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว จักรยานมียอดขายสูงขึ้น ขณะที่เมืองต่างๆ ก็เริ่มอุทิศพื้นที่บนถนนให้เป็นช่องเดินทางของจักรยานมากขึ้น ขณะที่ยอดขายรถยนต์ทะยานขึ้นเช่นกันจากการที่ผู้คนรู้สึกว่า พวกเขาปลอดภัยจากการควบคุมสภาพแวดล้อมภายในรถส่วนตัวได้ นอกจากนี้ เมืองต่างๆ ยังมีการวางแผนเมืองอัจฉริยะเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบโจทย์ยานยนต์ไร้คนขับ โดยร้อยละ 67 ของผู้ใหญ่ทั่วโลกเชื่อมั่นในอนาคตของยานยนต์ไร้คนขับ ในขณะที่ร้อยละ 68 ของพ่อแม่รู้สึกว่า ถ้าลูกของตนเองนั่งอยู่บนรถที่ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะปลอดภัยว่าการนั่งรถไปกับคนแปลกหน้า
- ยึดมั่นในความยั่งยืน: การล็อกดาวน์ทั่วโลกในช่วงแรกของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้สภาพอากาศดีขึ้นอย่างรวดเร็ว จนเราอาจเผลอคิดว่าไปโรคร้ายนี้อาจมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อมอยู่บ้าง แต่เพียงไม่นานเราก็ได้เห็นผู้คนทั่วโลกหันมาใช้พลาสติกและวัสดุใช้แล้วทิ้งเป็นจำนวนมากในการป้องกันตนเองจากโรคร้าย ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนยังคงเป็นเรื่องท้าทาย คนรุ่นใหม่จึงมีความเรื่องนี้กันมาก โดยร้อยละ 46 ของประชากร Gen Z ให้ความเห็นว่าโรคระบาดทำให้เกิดขยะมากขึ้น ขณะที่ร้อยละ 47 กล่าวว่าโรคระบาดในครั้งนี้จะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
ศึกษาข้อมูลจากรายงาน Looking Further with Ford 2021Trends Report ฉบับเต็มได้ที่ www.fordtrends.com