ป้ายแห่งความห่วงใย รู้ใช่ไหม… ยังมีคนที่รักคุณรออยู่ที่บ้าน
กรุงศรี ออโต้ สานต่อโครงการ LET’sponsible เพื่อถนนในฝันของเราทุกคน
อุบัติเหตุบนท้องถนนไม่ใช่เรื่องไกลตัว จากรายงานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO พบว่าในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีสถิติการเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นอันดับหนึ่งของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็นอันดับสองของโลก ซึ่งคิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจร้อยละ 5 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ[1]
ด้วยความห่วงใยในสวัสดิภาพการเดินทางของคนไทย “กรุงศรี ออโต้” ผู้นำธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ครบวงจร เครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) จึงเดินหน้าสานต่อการรณรงค์สร้างจิตสำนึกรับผิดชอบให้กับผู้ขับขี่ในการใช้รถใช้ถนน ภายใต้โครงการ LET’sponsible ซึ่งดำเนินมากกว่า 6 ปี ด้วยการจัดทำป้ายแห่งความห่วงใย (LET’sponsible – The signage of love) สื่อสารเชิงรูปธรรม ผ่านแผ่นป้ายสร้างสรรค์ ประยุกต์ตามไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไปของผู้ขับขี่ในปัจจุบัน โดยเริ่มจัดแสดงที่งานเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ 2019 (Chiang Mai Design Week 2019) พร้อมจับมือกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA หวังนำความคิดสร้างสรรค์มาเป็นส่วนผลักดันให้คนในสังคมเกิดความรับรู้ร่วมกัน สร้างจิตสำนึกความรับผิดชอบในการใช้รถ
ใช้ถนน รวมถึงส่งเสริมความปลอดภัยในการขับขี่ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมอย่างยั่งยืนต่อไป
LET’sponsible เพื่อถนนในฝันของทุกคน
กรุงศรี ออโต้ เชื่อมั่นว่า ความรับผิดชอบสามารถเริ่มได้จากตนเอง และต้องร่วมปลูกฝังความรับผิดชอบนี้ไปยังคนใกล้ชิด กว่า 6 ปี ที่โครงการ LET’sponsible ได้เป็นส่วนหนึ่งในการปลูกจิตสำนึกรับผิดชอบให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน และร่วมสร้างถนนในฝันซึ่งทุกคนมีความระมัดระวังในการขับขี่และคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ร่วมทางเป็นสำคัญ โครงการฯ ได้หยิบยกตัวอย่างพฤติกรรมเคยชินที่อาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง รวมถึงเรื่องราวสื่ออารมณ์ที่สอดคล้องกับชีวิตประจำวันมาใช้ในการเล่าเรื่องผ่านวีดีโอออนไลน์ ปัจจุบันได้เผยแพร่ไปแล้ว 17 คลิป มียอดผู้ชมรวมทั้งหมดสูงถึง 11.2 ล้านวิว ยอดแชร์ 121,269 ครั้ง และคอมเมนต์กว่า 35,094 ข้อความ
นางกฤติยา ศรีสนิท กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท อยุธยา แคปปิตอล ออโต้ ลีส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ในฐานะผู้ให้บริการสินเชื่อยานยนต์ ความรับผิดชอบเป็นสิ่งที่กรุงศรี ออโต้ ให้ความสำคัญตลอดมา เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ในปีที่แล้วเราได้จัดกิจกรรมเปลี่ยนไฟท้ายฟรี ภายใต้โครงการ “LET’sponsible ไฟท้ายดับ ชีวิตดับ” โดยได้รับความร่วมมือจากเครือข่ายพันธมิตรผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ชั้นนำ 10 แบรนด์ ในการร่วมรณรงค์ให้ผู้ใช้มอเตอร์ไซค์หมั่นตรวจสอบไฟท้ายของตัวเอง ทำให้มีผู้สนใจเปลี่ยนไฟท้ายทั้งสิ้นจำนวน 22,175 หลอด ตลอด 1 เดือนที่จัดโครงการ”
“เพื่อต่อยอดโครงการ LET’sponsible ให้เป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง ปีนี้เราจึงได้จัดทำป้ายแห่งความห่วงใย ผ่านแผ่นป้ายสร้างสรรค์ 24 แบบ โดยได้รับความสนับสนุนจาก CEA นำความห่วงใยนี้ไปอยู่ในสภาพแวดล้อมจริงบริเวณถนนสายสำคัญรอบงานเทศกาลออกแบบเชียงใหม่ คือ บริเวณรอบอนุสาวรีย์สามกษัตริย์และแยกศูนย์สถาปัตยกรรมล้านนา คุ้มเจ้าบุรีรัตน์ บริเวณ DAILY CRAFT MARKET ( โรงงานยาสูบ) และบริเวณ POP MARKET (TCDC) เป็นการเพิ่มช่องทางการประชาสัมพันธ์ให้เข้าถึงผู้ใช้รถใช้ถนนมากขึ้น นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นโอกาสสำคัญในการศึกษาปฏิกิริยาตอบรับของคนในสังคม ด้วยบริบททางการสื่อสารที่เหมาะสม เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างความตระหนักให้คนในสังคมระมัดระวังในการขับขี่ และส่งเสริมให้เกิดพฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัยในสังคม” นางกฤติยา กล่าวเสริม
ป้ายแห่งความห่วงใย รู้ใช่ไหม … ยังมีคนที่รักคุณรอคุณอยู่ที่บ้าน
“วิถีชีวิตปัจจุบันมีเวลาจำกัดและอยู่ในสภาวะรีบเร่ง จากการสำรวจพฤติกรรมของผู้ขับขี่ พบว่า แทนที่สายตาของผู้ขับขี่จะจดจ่อที่ท้องถนนหรือให้ความสำคัญกับป้ายบอกทางหรือสัญลักษณ์จราจร พวกเขากลับละเลย หลายคนมีพฤติกรรมขับขี่โลดโผน และไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร บ้างก็ใช้เวลาทำกิจกรรมอื่นๆ บนท้องถนน เช่น แต่งหน้า ทานข้าว คุยโทรศัพท์ หรือแม้กระทั่งเล่นเกมขณะขับรถ ส่งผลให้ความสามารถในการควบคุมรถลดลงไปมาก” นายพรเทพ ถิรสุนทรากุล ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารสายงานการตลาด ธุรกิจสินเชื่อยานยนต์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าว
“การออกแบบป้ายในครั้งนี้ เราคำนึงถึงพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้ขับขี่ในปัจจุบัน โดยใช้หลัก 3 ประการ ในการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ ลำดับแรก คือ สีสันและลักษณะป้ายที่คุ้นเคย เราใช้สีเหลืองเป็นสีพื้นเพื่อดึงดูดความสนใจ เนื่องจากสีเหลืองเป็นสีที่ตาของมนุษย์รับได้ดีที่สุดตามหลักจิตวิทยาสี นอกจากนี้ลักษณะของป้ายยังมีความคล้ายคลึงกับป้ายสัญลักษณ์จราจรโดยทั่วไป เป็นการสื่อสารแบบมีนัยยะว่าแผ่นป้ายแห่งความห่วงใยนี้กำลังสื่อสารถึงเนื้อหาที่เกี่ยวกับการขับขี่บนท้องถนน
นอกจากนี้ เรายังคำนึงถึง ศาสตร์และศิลป์ของการจัดวาง กราฟิกและข้อความที่ใช้สื่อสารมีความตรงไปตรงมา โดยข้อความบนแผ่นป้ายที่ใช้ในการจัดแสดงครั้งนี้เป็นภาษาเหนือ เนื่องจากพื้นที่การจัดแสดงอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ การใช้ภาษาถิ่นจะช่วยให้ผู้พบเห็นรู้สึกว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้น ในขณะที่ตำแหน่งตั้งป้ายจะคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องและพฤติกรรมของผู้ขับขี่เป็นหลัก เช่น การติดป้าย ‘ชุบหมวกกันน๊อกหื้อละอ่อน’ ในบริเวณลานจอดรถ แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่เมื่อได้เห็นป้ายนี้ จะตระหนักถึงความปลอดภัยของลูกขึ้นมาทันทีก่อนที่จะสตาร์ทรถ
สุดท้ายคือหัวใจของป้าย หากลองสังเกตให้ดี ในทุกๆ ป้าย จะมีจุดสังเกตเล็กๆ ซึ่งเป็นไอค่อนรูปคน ที่เป็นเครื่องหมายแทนคนในครอบครัวเพื่อสื่อสารว่าแท้จริงแล้วทุกแผ่นป้ายเตือนที่พบเห็นโดยทั่วไป ไม่เพียงแต่จะเป็นความห่วงใยจากภาครัฐหรือหน่วยงานต่างๆเท่านั้น หากแต่มีอีกสิ่งสำคัญที่ทุกแผ่นป้ายพยายามจะสื่อสารกับคุณก็คือ พวกเราอยากให้พวกคุณเดินทางอย่างปลอดภัย เพราะยังมีคนที่รักคุณรอคุณอยู่ที่บ้าน” นายพรเทพ กล่าวเสริม
ความคิดสร้างสรรค์ สู่จิตสำนึกความรับผิดชอบร่วมกัน
“งานเทศกาลงานออกแบบเชียงใหม่ (Chiang Mai Design Week) เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่ CEA ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เรายินดีที่ได้ร่วมมือกับกรุงศรี ออโต้ ในการนำความคิดสร้างสรรค์มาใช้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืนผ่านโครงการ LET’sponsible การจัดแสดง ‘ป้ายแห่งความห่วงใย’ นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการนำความคิดสร้างสรรค์มายกระดับคุณภาพชีวิต ผ่านการพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์ภายใต้แนวคิด ‘Better City, Better Living’ เราภูมิใจที่ได้เป็นตัวเชื่อมระหว่างองค์กรและกลุ่มนักออกแบบ และกระตุ้นให้คนในสังคมมีจิตสำนึกรับผิดชอบทั้งต่อตนเองและเพื่อนร่วมถนน อันจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทางที่ดีขึ้นในระยะยาว” คุณอินทพันธุ์ บัวเขียว รักษาการผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เชียงใหม่กล่าว
“โครงการ LET’sponsible ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักด้านความรับผิดชอบต่อสังคมของ กรุงศรี ออโต้ ตามแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending) เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดแสดงแผ่นป้ายแห่งความห่วงใย จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสนับสนุนให้เกิดความรับผิดชอบบนท้องถนน ด้วยความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงสังคมอย่างยั่งยืน เราจะนำผลตอบรับที่ได้จากการจัดแสดงในครั้งนี้ไปศึกษาและพัฒนา เพื่อให้เกิดการใช้งานจริงอย่างได้ผล ทั้งยังพร้อมสนับสนุนกับทุกภาคส่วนในการเป็นกระบอกเสียงช่วยรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกรับผิดชอบให้กับผู้ขับขี่ในการใช้รถใช้ถนน เพื่อให้เกิดการลดจำนวนของอุบัติเหตุของประเทศต่อไป” นางกฤติยา กล่าวปิดท้าย